คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ส่วนวันที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเป็นวันที่มีการกระทำผิดซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิด ดังนั้นเมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยมิได้ระบุว่าปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันใด จึงเป็นฟ้องที่ขาดรายละเอียดที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น มิใช่ฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิด โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ในเมื่อจำเลยมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163,164.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค แต่คดีของโจทก์สำหรับเช็คฉบับแรกขาดอายุความส่วนฉบับหลังไม่ขาดอายุความ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 เป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 5 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ระบุวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอันเป็นวันกระทำผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง ระบุวันกระทำผิดภายหลังก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้นสมบูรณ์ไปได้ไม่ พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับเช็คฉบับหลังด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า “ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็คนั้น การที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ส่วนวันที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเป็นวันที่อ้างว่ามีการกระทำผิด ซึ่งวันที่มีการกระทำผิดนันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิด ดังนั้น การที่โจทกืกล่าวในฟ้องว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โดยมิได้ระบุว่าปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันใดนั้น จึงเป็นฟ้องที่ขาดรายละเอียดที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้นมิใช่ฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ในเมื่อจำเลยมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163, 164 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่”.

Share