แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับเป็นฎีกาของจำเลยที่ 3 เฉพาะในข้อ 4 ซึ่งฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย สำหรับฎีกาในข้อ อื่น ๆ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218จำเลยที่ 3 เห็นว่าฎีกาข้อ 5 เป็นการฎีกาขอให้ตีความตามคำฟ้องจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนในข้อ 6 จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเพิ่มเข้าไปในเช็คพิพาทเป็นผลทำให้เช็คพิพาทใช้ไม่ได้ โจทก์ที่ 1จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย อีกทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 หากได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีกเช่นกัน โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาข้อ 5 และข้อ 6 ของจำเลยที่ 3ไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ โจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 103 แผ่นที่ 3 และ 102 แผ่นที่ 2)
คดีสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับอีกสำนวนหนึ่งโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์อีกสำนวนหนึ่งว่าโจทก์ที่ 2 และให้เรียกจำเลยนี้ว่าจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อันเป็นบทหนักที่สุด ให้จำคุก 1 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 98 ก.)
จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 101)
คำสั่ง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อ 6 ว่า นายนิพรรณ์เบิกความว่าหากเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพียงคนเดียวจะไม่รับแลกเช็ค และนายนิพรรณ์รู้ว่าเจ้าของบัญชีมีเพียงคนเดียว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 หลงเชื่อว่าเช็คพิพาทต้องมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายสามคน และการที่เช็คมีผู้สั่งจ่ายไว้หลายวันแล้วมีผู้อื่นมาลงลายมือชื่อภายหลัง ผู้ลงลายมือชื่อภายหลังหาใช่ผู้ออกเช็คไม่นั้น เห็นว่าเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อ 5 เห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ ช.132/2529 ของศาลชั้นต้น โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แต่คดีหมายเลขดำที่ ช.3936/2529 ของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และมูลกรณีทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นมูลกรณีเดียวกันโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ช.132/2529 ของศาลชั้นต้นเป็น ผู้เสียหายในคดีหมายเลขดำที่ ช.3936/2529 ของศาลชั้นต้น ประกอบกับศาลสั่งรวมการพิจารณาแล้วพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อ 5 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระควรแก่การวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อ 5 และข้อ 6 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง