คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่าการหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนี้ดังกล่าวต่างก็ถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่ประการใด
หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งข้อความในเอกสารหมาย ล.7 หาได้มีข้อความตอนใดที่เป็นการปฏิเสธความรับผิด หรือโต้แย้งจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,941,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,700,000 บาท นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจะใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า กรณีที่จำเลยมีหนังสือแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้มายังโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังจำเลยมีข้อความโต้แย้งหนี้ที่จำเลยแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ทันที เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้ตกลงยินยอมให้จำเลยหักกลบลบหนี้ หนี้ที่จำเลยนำมาขอหักกลบจึงเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจนำมาหักกลบกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 นั้น เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนี้ดังกล่าวต่างก็ถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่ประการใด ที่โจทก์ฎีกาว่าหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้มายังโจทก์ โจทก์มีหนังสือโต้แย้งการแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ตามเอกสารหมาย ล. 7 ไปยังจำเลย หนี้ที่จำเลยนำมาหักกลบลบหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้นั้นเมื่อได้พิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย ล.7 แล้ว ข้อความดังกล่าวมีใจความว่า โจทก์มีความเห็นว่าการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการของการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทโจทก์ ซึ่งจะมีผลทำให้จำเลยได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงไม่สามารถที่จะขอหักกลบลบหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ขอสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ค่าสินค้าจากลูกหนี้โดยตรงก่อนที่จะเรียกร้องจากจำเลยผู้ค้ำประกัน เห็นว่า หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 นั้น หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งข้อความในเอกสารหมาย ล.7 หาได้มีข้อความตอนใดที่เป็นการปฏิเสธความรับผิดหรือโต้แย้งจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share