แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเล็กน้อยจากรอการลงโทษเป็นไม่รอการลงโทษ โดยยังคงจำคุกจำเลยไม่เกินกำหนด 5 ปี ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 จึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยย่อมได้รับผลร้ายจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง อีกทั้งคดีมีเหตุสมควรที่ศาลจะรอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนเพราะจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนที่จำเลยกระทำผิดคดีนี้ก็เป็นความผิดฐานประมาท ในขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ กำลังศึกษาอยู่และจำเลยได้พยายามติดต่อกับโจทก์ร่วมทั้งสองและผู้เสียหายขอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว
ระหว่างพิจารณา นางนงนุช รบมีชัย ที่1และนายนิติพร ประสิทธิหัตถ์ที่ 2 ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157 การกระทำของจำเลย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยอายุ 18 ปีเศษ แต่ก็ไม่เห็นสมควร จะลดมาตราส่วนโทษ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท เนื่องจากจำเลย ยังเป็นนักศึกษาชั้น ปวช.3 โรงเรียนโปลีเทคนิคระยอง โดยทางโรงเรียนมีหนังสือรับรองว่าจำเลยมีความประพฤติเรียบร้อยตามเอกสารหมาย ล.2 ทั้งจำเลยและบิดาได้พยายามติดต่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วม ทั้งสองและผู้เสียหายรวมเป็นเงิน 180,000 บาท แต่ฝ่ายโจทก์ร่วมทั้งสองว่าจำนวนน้อยไป ดังนี้ เมื่อคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไปประกอบกับฝ่ายจำเลยได้พยายามชดใช้เงินเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้วสำหรับโทษจำคุกจึงเห็นควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ ในข้อหาไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่รอการลงโทษและไม่ปรับ เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 12 จึงให้รับฎีกาจำเลยไว้พิจารณาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป