คำสั่งคำร้องที่ 730/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คำฟ้องอุทธรณ์เป็นการอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ไม่รับอุทธรณ์ จำเลยเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสาม ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา เป็นการจงใจทำให้ จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรงหรือไม่และเจตนากระทำความผิดอาญา แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่นั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น โปรดมีคำสั่ง ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ทนายโจทก์ทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 69,70) คดีทั้งสามสำนวนนี้ จำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน ศาลแรงงานกลาง พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 88,499 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 21,633 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 7,866 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ให้ชำระค่าชดเชยจำนวน 183,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 22,366 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 8,133 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และให้ชำระค่าชดเชยจำนวน 60,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,333 บาท และ ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,666 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 61) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 62)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสาม ฉีกทำลายเอกสารไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลย และไม่เป็นความผิดอาญา จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามฉีกทำลายเอกสาร พร้อมกันลักษณะเป็นการจงใจให้จำเลยเสียหาย เป็นการอุทธรณ์ โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ทั้งสาม ฉีกเอกสารเป็นการไม่ระมัดระวังป้องกันทรัพย์สินของจำเลย ทำให้จำเลยเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่ง ของจำเลย และเจตนากระทำผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 นั้น ก็เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ ข้อกฎหมายเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลาง ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share