คำสั่งคำร้องที่ 505/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จึงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิ เลิกจ้างจำเลยร่วมทั้งหกตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือไม่ และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการตกลง กันฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หรือไม่ และอุทธรณ์ที่ว่าศาลแรงงานกลางแปลเอกสาร ไม่ถูกต้อง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้ รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ จำเลยทั้งสิบสี่ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2537 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง ของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าถูกโจทก์ เลิกจ้างเพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นการเลิกจ้าง ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็น การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสิบสี่ ได้ร่วมกันมีคำสั่งที่ 22/2537 วินิจฉัยชี้ขาดว่าการที่โจทก์ เลิกจ้างจำเลยร่วมทั้งหกนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยร่วมที่ 1 จำนวน 82,500 บาท จำเลยร่วมที่ 2 จำนวน 103,700 บาท จำเลยร่วมที่ 3 จำนวน 92,900 บาท จำเลยร่วมที่ 4 จำนวน 73,500 บาท จำเลยร่วมที่ 5 จำนวน 93,300 บาท และ จำเลยร่วมที่ 6 จำนวน 94,600 บาท โจทก์เห็นว่าคำสั่งของ จำเลยทั้งสิบสี่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ เพิกถอนคำสั่งที่ 22/2537 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ระหว่างพิจารณา จำเลยร่วมทั้งหกยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็น จำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 33) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 34)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่แท้จริงที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมทั้งหกเป็นเพราะโจทก์ไม่พอใจจำเลยร่วมทั้งหกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกร้องและเข้าร่วมรณรงค์ เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายเงินทดแทนเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมทั้งหกได้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) ถึง (5) อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยร่วม ทั้งหกตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ และข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงกันฝ่าฝืนมาตรา 123แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่ เป็นการ อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น เป็นปัญหา ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ส่วนอุทธรณ์ ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานกลางแปลเอกสารไม่ถูกต้องนั้นแม้จะเป็น ข้อกฎหมาย แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เลิกจ้าง จำเลยร่วมทั้งหกเพราะเหตุอื่น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็น ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีในศาลแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share