แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลฎีกาในคดีหลักมีคำพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 95,000 บาท ไปจากโจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 15,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 20,000บาท ให้โจทก์ จำเลยก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับในคำพิพากษาดังกล่าว จำเลยจะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับที่สองโดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยลำพังตนเองหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่า อ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายนี้แล้ว โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยรวมทั้ง อ. เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งได้ด้วยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 และ 1361 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องให้โจทก์คืนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วให้โจทก์ชำระค่าเช่าเป็นเงิน8,720 บาท แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ส่งมอบการครอบครองคืนให้ชำระค่าเสียหายจำนวน20,000 บาท ต่อหนึ่งฤดูกาลทำนาจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินพิพาทแก่จำเลย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 95,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 15,000 บาท และชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือ 95,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 15,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท ให้โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมและค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกามาวางต่อศาลชั้นต้น และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2534 โจทก์วางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 95,000 บาท ต่อศาล หลังจากนั้นวันที่ 30 สิงหาคม2538 โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสังเวียน บุญสม ผู้จัดการมรดกร้องขอเข้ามาบังคับคดีว่า โจทก์ได้วางเงินค่าที่ดินไว้ต่อศาลจำนวน 95,000 บาท แล้วแต่จำเลยยังไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยมาขังไว้จนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยสามารถเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่การบังคับคดีในกรณีนี้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องจับจำเลยมากักขังจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะโจทก์อาจดำเนินการบังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ได้ ที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2เห็นด้วยในผล พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลฎีกาซึ่งพิจารณาและพิพากษาคดีหลักฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า จำเลยกับนางสาวอรวรรณ ทองแกมใบ บุตรสาวจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2527 จำเลยโดยความยินยอมของนางสาวอรวรรณได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่โจทก์ในราคา 110,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลฎีกาในคดีหลักได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 95,000บาท ไปจากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 15,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท ให้โจทก์ จำเลยก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับในคำพิพากษาดังกล่าว โดยจำเลยจะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับที่สองอ้างว่าจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยลำพังตนเองหาได้ไม่ เพราะตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นก็ปรากฏว่านางสาวอรวรรณเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายนี้แล้ว โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยรวมทั้งนางสาวอรวรรณเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งได้ด้วยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 และ 1361 วรรคสอง ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำพังตนเอง โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ได้ คดีชั้นนี้มีประเด็นเพียงว่าสมควรออกหมายจับจำเลยมาขังไว้หรือไม่เท่านั้น เมื่อตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุที่จะออกหมายจับจำเลยมาขังไว้ตามคำร้องของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน