คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3389/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำมาหาได้ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เป็นของผู้ร้องกับผู้ตายร่วมกันผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และมีสิทธิร้องขอให้ตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องจะเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์แก่กองมรดกและเจตนาของเจ้ามรดกด้วย เมื่อผู้ตายได้ทำหนังสือตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกไว้ ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่สาวร่วมมารดากับผู้ตาย เคยมีเรื่องทะเลาะกันกับผู้ตายจนไม่พูดจากัน จึงควรตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งพันโทโอภาส นิมมานพ เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิศาล เต็งกวน ผู้วายชนม์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหามีว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียหรือไม่ปัญหานี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันว่า ผู้ร้องกับผู้ตายได้อยู่กินฉันสามีภรรยาร่วมกันตลอดมาจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่กรรม ทั้งยังได้ความจากผู้ร้องเบิกความว่า ตอนได้เสียเป็นภรรยาผู้ตายนั้น ผู้ร้องมีสินเดิมเป็นเงินที่ได้จากการทำการค้ากับพี่สาว ดังนั้น บรรดาทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำมาหาได้ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน จึงเป็นของผู้ร้องกับผู้ตายร่วมกัน ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และมีสิทธิร้องขอให้ตั้งพันโทโอภาส นิ่มมานพ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องจะเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปว่าพันโทโอภาส นิ่มมานพ กับผู้คัดค้านใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปัญหานี้ผู้ร้องเบิกความว่า ก่อนผู้ตายถึงแก่กรรมได้ทำหนังสือตั้งพันโทโอภาส นิ่มมานพ เป็นผู้จัดการมรดกไว้ตามเอกสารหมาย ร.3 และได้ฝากหนังสือดังกล่าวไว้กับพระครูสังฆรักษ์บุญทาเจ้าอาวาสวัดอินทราราม ซึ่งผู้ร้องมีพระครูสังฆรักษ์บุญทาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าผู้ตายได้ฝากหนังสือดังกล่าวไว้กับพยานจริงมาสนับสนุนให้มีน้ำหนักเชื่อถือยิ่งขึ้นว่าผู้ตายได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ร.3ไว้จริงที่ผู้คัดค้านอ้างว่าหนังสือเอกสารหมาย ร.3 นั้นปลอม โดยมีนายจีรศักดิ์ ศรมณี เบิกความว่าผู้ตายได้เซ็นชื่อไว้ในใบมอบอำนาจแล้วมีผู้ไปกรอกข้อความเองนั้น แต่พยานมิได้ยืนยันว่าเอกสารที่เคยมีผู้นำมาปรึกษาคือเอกสารหมาย ร.3 ทั้งผู้คัดค้านก็ไม่เคยรู้จักนายจีรศักดิ์ ศรมณี และไม่มีญาติพี่น้องคนใดพูดสั่งหรือเล่าเรื่องนายจีรศักดิ์ให้ฟังแต่อย่างใดถึงเดี๋ยวนี้เหตุใดผู้คัดค้านจึงอ้างนายจีรศักดิ์เป็นพยานจึงเป็นที่น่าสงสัย คำเบิกความของนายจีรศักดิ์จึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังเมื่อผู้ตายมีเจตนาที่จะตั้งให้พันโทโอภาส นิ่มมานพ เป็นผู้จัดการมรดกของตน และพันโทโอภาส นิ่มมานพ ก็ยินดีและเต็มใจรับเป็นผู้จัดการมรดกให้ ทั้งพันโทโอภาส นิ่มมานพ มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่สาวร่วมมารดากับผู้ตายเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าผู้คัดค้านกับผู้ตายเคยมีเรื่องทะเลาะกัน จนไม่พูดจามา 10 ปีเศษแล้ว และผู้คัดค้านก็ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินมรดกว่าเป็นที่ดินมีโฉนดหรือไม่ อยู่ตรงไหนบ้าง และจะมีเงินฝากธนาคารอะไรมีจำนวนเงินมากน้อยเท่าไร ผู้คัดค้านก็ไม่ทราบ การทีศาลจะแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์แก่กองมรดกและเจตนาของเจ้ามรดกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวเห็นสมควรตั้งพันโทโอภาส นิ่มมานพ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย”

พิพากษายืน

Share