คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดในอนาคตของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน แม้จำเลยที่ 1 อาจรับผิดไม่เต็มจำนวนหนี้ก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าหากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดลดลงจำนวนเท่าใดก็ให้นำมาหักจากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดตามคำพิพากษาจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ตกลงใช้สินเชื่อจากโจทก์วงเงิน 30,000,000 บาทอัตราดอกเบี้ยตกลงเป็นคราว ๆ ไป กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน โดยชำระงวดแรกนับแต่เดือนแรกที่รับเงิน ตกลงชำระคืนเงินต้นตามที่กำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ เพื่อเป็นหลักฐานการชำระหนี้ หากผิดนัดให้คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ในการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 30,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้เบิกใช้เงินจากโจทก์และได้มีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ถึงกำหนดชำระเรื่อยมาโดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่พี 025645 จำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2541 จำนวน 443,835.62 บาท โจทก์นำไปหักชำระค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2541 ถึง 30 มิถุนายน 2541 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก อันเป็นการผิดข้อตกลง จำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้น 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2542 (วันฟ้อง) จำนวน 8,514,246.57 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,514,246.57 บาท ในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดโจทก์คิดตามประกาศของโจทก์ดังนี้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2541 อัตราร้อยละ30 ต่อปี วันที่ 20 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 25 ต่อปี และวันที่ 2 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2542 (วันฟ้อง) อัตราร้อยละ 18 ต่อปี จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,514,246.57 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากเงินต้น 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มิได้ทำขึ้นโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อย่างถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินกู้ ไม่เคยทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ และไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใด อีกทั้งบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ก็ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และตราสำคัญที่ประทับในเอกสารเหล่านั้นก็ไม่ใช่ตราสำคัญของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เพราะเกินกว่าที่กฎหมายให้สิทธิและโจทก์คำนวณยอดหนี้ผิดพลาด จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับการติดต่อทวงถามและไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา บริษัท บริหารสินทรัพย์ จตุจักร จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ชั่วคราวเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 และต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2544 จึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยตั้งให้บริษัทฟาร์อิสต์ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 30,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าหากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดลดลงจำนวนเท่าใด ก็ให้นำมาหักจากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาคดีนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ15,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าในระหว่างพิจารณาคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งงดการพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1ชั่วคราวเพราะจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางสั่งรับคำร้องขอดังกล่าวไว้พิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดลดลงจำนวนเท่าใดก็ให้นำยอดหนี้ที่ลดลงนั้นมาหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดด้วย เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ศาลล้มละลายกลางเพียงรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาเท่านั้นมีผลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12แต่เพียงว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแพ่งลูกหนี้ไว้ก่อนแล้ว ก็ให้งดพิจารณาคดีไว้ก่อนเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาดังกล่าวได้ เมื่อนำมาตรา 90/60วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาพิจารณาประกอบได้ความว่าแม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการก็ตาม ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน ดังนั้นการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในอนาคตแต่ประการใด แม้จำเลยที่ 1 อาจรับผิดไม่เต็มจำนวนหนี้ก็ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 101 เรื่องสิทธิในการยื่นขอคำรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้า หากจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์มาในคำแก้อุทธรณ์เห็นว่า เป็นคนละเรื่องและคนละขั้นตอนกับคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ”

Share