คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4967/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา83และมีบทลงโทษตามมาตรา92แห่งประมวลรัษฎากรปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่30)พ.ศ.2534บัญญัติในมาตรา7ให้ยกเลิกความในหมวด4ภาษีการค้ามาตรา77ถึงมาตรา93เดิมและบัญญัติในมาตรา8ให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทนซึ่งบทบัญญัติมาตรา8ดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่1มกราคม2535เป็นต้นไปแต่ความที่บัญญัติใหม่ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่30)พ.ศ.2534นั้นมิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดที่โจทก์ฟ้องไว้อีกจึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไปการกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องจำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา2วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่สำนวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83, 92 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 18, 21
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่สำนวนมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสอง, 92 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 18, 21ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คำสั่งกรมสรรพากรที่ กค. 0809/11147เรื่องให้ผู้ประกอบการค้าแจ้งมูลค่าของสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลงวันที่ 26 กันยายน 2508 รวม 98 กรรมเรียงกระทงลงโทษ ให้ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวมปรับ 588,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าได้แจ้งมูลค่าของสินค้ารถยนต์ที่จำเลยผลิตต่อเจ้าพนักงานประเมินไว้แล้ว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมูลค่าที่ได้แจ้งไว้ แต่จำเลยมิได้แจ้งมูลค่าเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนมูลค่าอันเป็นความผิดตามมาตรา 83และมีบทลงโทษตามมาตรา 92 แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 บัญญัติในมาตรา 7ให้ยกเลิกความในหมวด 4 ภาษีการค้า มาตรา 77 ถึงมาตรา 93 เดิมและบัญญัติในมาตรา 8 ให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 8 ดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปแต่ความที่บัญญัติใหม่ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 นั้น มิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดที่โจทก์ฟ้องไว้อีก จึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสองแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share