คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว ผู้รับมรดกได้ทำสัญญาตกลงแบ่งทรัพย์กันคนละส่วน แต่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และมอบเงินประกันการค้าน้ำมันกับบริษัทน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกให้อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลย ดั่งนี้ ถือว่าทายาทต่างยังเป็นเจ้าของรวมในเงินประกันนั้น จำนำมาตรา1754 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรค 2 บัญญัติว่าสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อนจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้นั้น หมายความว่าทายาทจะทำความตกลงกันห้ามไม่ให้ใครเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ย่อมทำได้ แต่ในการที่จะทำนิติกรรมห้ามเรียกแบ่งทรัพย์มรดกนั้นจะห้ามได้แต่เพียงคราวละสิบปีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ทายาทย่อมมีสิทธิจะเรียกให้แบ่งได้เสมอตามทรัพยสิทธิของเขา จะแปลกลับเป็นว่าทายาทจะเรียกให้แบ่งทรัพย์ไม่ได้ เมื่อเกินสิบปีแล้วนั้นไม่ได้

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรขุนจำนงค์ฯ และนางฉุ้นมารดาเมื่อขุนจำนงค์ตายแล้ว โจทก์จำเลยและทายาทได้ทำสัญญาเกี่ยวกับมรดกขึ้นฉบับหนึ่ง เอาการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทเอเชียติ๊กปิโตรเลียมเป็นของกองมรดก คือกองมรดกได้เป็นเอเย่นต์บริษัทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 โดยบริษัทเรียกเงินประกัน 5,000 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทย 6,250 บาท และบริษัทเช่าโกดังเก็บน้ำมันของกองมรดก 1 หลัง การเป็นเอเย่นต์จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลิกเมื่อเกิดสงครามเอเซีย พ.ศ. 2484 โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินกองมรดกเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งโจทก์มีสิทธิ 1 ใน 5 ส่วนของเงินค่าประกันดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดัง เป็นเงินจำนวน5,086 บาท 75 สตางค์ จำเลยให้การรับว่าเงินประกันและโกดังเป็นของกองมรดก แต่จำเลยไม่เคยรับเงินประกันดอกเบี้ยและค่าเช่าโกดังเลย ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก คดีขาดอายุความแล้วได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยครอบครองมรดกเกินสิบปีแล้ว

ศาลชั้นต้นฟังว่า เงินประกันและโกดังเป็นของกองมรดก ดอกเบี้ยเงินประกันและค่าเช่าโกดังเป็นของจำเลย พิพากษาให้จำเลยนำเงินค่าประกัน 5,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทย 6,250 บาท มาวางศาลหักค่าธรรมเนียมทนายทั้งสองฝ่ายเหลือเท่าใด จ่ายให้โจทก์ 1 ใน 5 นอกนั้นคืนจำเลยไป

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าให้จำเลยนำเงิน5,000 เหรียญสิงคโปร์หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่จำเลยนำมาชำระหนี้มาวางศาล นอกนั้นยืนตาม

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยเกิน 10 ปีย่อมขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อขุนจำนงค์ฯ ตาย ทายาทได้ทำหนังสือสัญญาลงวันที่ 22 สิงหาคม 2474 ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกเป็น 5 ส่วน แต่ยังมิได้แบ่งกันและมอบเงินประกัน 5,000 เหรียญให้อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก ดังนี้ ทายาททั้งห้าจึงเป็นเจ้าของรวมกันในเงิน 5,000 เหรียญ หากแต่ให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้จัดการควบคุมดูแล จะนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ จำเลยยกมาตรา 1748 วรรค 2 มาคัดค้านนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความวรรคนี้มีว่า “สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละ 10 ปีไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า ทายาทจะทำความตกลงกันห้ามไม่ให้ใครเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ย่อมทำได้ แต่ในการที่จะทำนิติกรรมห้ามเรียกแบ่งทรัพย์มรดกนั้นจะห้ามได้แต่เพียงคราวละสิบปี เมื่อพ้นกำหนดสิบปีแล้ว ทายาทย่อมมีสิทธิจะเรียกให้แบ่งได้เสมอตามทรัพย์สิทธิของเช่า ที่จำเลยจะแปลกลับเป็นว่าทายาทจะเรียกให้แบ่งทรัพย์ไม่ได้ เกินสิบปีแล้วจึงไม่ถูกต้อง

พิพากษายืน

Share