คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยมีข้าวสารเกินปริมาณโดยมิได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 20 และ 23 ตุลาคม 2489 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. สำรวจและกักกันข้าว พ.ศ.2489 ฉบับที่1 และที่ 2 พระราชบัญญัติฉบับที่ 2 ออกใช้ภายหลังวันที่หาว่าจำเลยกระทำผิด และยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ฉบับที่ 1 แล้วบัญญัติให้ผู้มีข้าวสารเกินปริมาณแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ดังนั้น จำเลยจะมีผิดตามพ.ร.บ.ฉบับที่ 2 มาตรา 5 ต่อเมื่อมีประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไม่ไปแจ้ง พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 จึงบัญญัติเป็นคุณแก่จำเลยต้องยก พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นปรับแก่คดีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 8 ย่อมเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าหาว่าจำเลยมีข้าวสารเกินปริมาณโดยมิได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 20 และ 23 ตุลาคม 2489 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสำรวจและกักกันข้าว 2489 มาตรา 5, 13 พระราชบัญญัติสำรวจและกักกันข้าว (ฉบับที่ 2) 2489 มาตรา 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำผิดก่อนวันใช้พระราชบัญญัติสำรวจและกักกันข้าว (ฉบับที่ 2) ถ้าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามพระราชบัญญัติฉบับแรก ก็ไม่มีทางลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติฉบับหลังได้ พิจารณาตามพระราชบัญญัติฉบับแรก เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตาม มาตรา 7 จึงลงโทษจำเลยตาม มาตรา 13 ไม่ได้คดีจึงไม่มีทางลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติฉบับหลังดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา พิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติสำรวจและกักกันข้าวฉบับที่ 2 ออกใช้ภายหลังวันที่หาว่าจำเลยกระทำผิด ถ้าจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติฉบับแรกแล้ว จำเลยน่าจะมีผิดตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัตินี้ แต่ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติฉบับที่ 2 ออกใช้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดิมบัญญัติให้ผู้ที่มีข้าวเกินปริมาณไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บเพื่อขอรับใบอนุญาต ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดจึงเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับหลังจะเอาผิดแก่ผู้มีข้าวเกินกำหนดในมาตรา 5ต่อเมื่อมีประกาศของเจ้าพนักงานให้ไปแจ้งแล้วไม่ไปแจ้งฉะนั้น เมื่อยกบทบัญญัติฉบับหลังนี้มาปรับกับคดีจำเลยตาม กฎหมายอาญามาตรา 8 ซึ่งบัญญัติให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยแล้วก็ย่อมเอาผิดจำเลยไม่ได้

พิพากษายืน

Share