คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายได้ทำเอกสารฉบับหนึ่งมีข้อกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนว่า ให้ยกเงินสองหมื่นบาทให้แก่ อ. เมื่อตนตาย ดังนี้ เอกสารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นพินัยกรรม
ในพินัยกรรม ตอนท้ายมีข้อความว่า (นางลำดวน)ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้รู้เห็นไว้เป็นสำคัญแล้ว ยังมีคำว่า ‘ต่อหน้า’ อยู่ข้างหน้ากึ่งกลางระหว่างลายมือชื่อพยานกับผู้เขียนอีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นข้อความอันแสดงว่าบุคคลทั้ง 2 นี้ได้ลงชื่อในฐานะเป็นพยาน ดังนี้ พินัยกรรมรายนี้นับว่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 แล้ว แม้ตามมาตรา1671 จะมีข้อความว่า ถ้าผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรมเป็นพยาน ก็ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานผู้อื่นก็ดี ความมุ่งหมายสำคัญของมาตรานี้ ก็เพื่อให้มีข้อความแสดงว่า ผู้เขียนนั้นเป็นพยานด้วย ซึ่งในคดีนี้ผู้เขียนก็ได้เบิกความรับรองไว้แล้ว พินัยกรรม จึงหาขัดกับมาตรา 1671 ไม่
พยานจะลงชื่อก่อนหรือหลังผู้ทำพินัยกรรมไม่สำคัญ เมื่อได้ความว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงชื่อของตนในเวลาที่อยู่พร้อมกันในขณะนั้น ก็เป็นการใช้ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8/92)

ย่อยาว

ความว่า เดิมนางลำดวนได้ฝากเงินนางชลอไว้ 20,000 บาท เมื่อครั้งนางลำดวนยังมีชีวิตอยู่ได้แสดงความจำนงยกเงินจำนวนนี้ให้แก่นายอาภรณ์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความต่อไปนี้

“ที่บ้านประสพผล 63 บางขุนพรหม พระนคร

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2489

ถึง คุณชลอ รังควร

เรื่องเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) ถ้าดิฉัน ลำดวน โกสากรยังมีชีวิตอยู่ เงินจำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) นี้ให้นางสาวผ่อน ธนโกเศสเป็นผู้ไปเบิกถอนได้ ถ้าดิฉันลำดวน โกสากรตายแล้ว เงินจำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ยังเหลืออยู่เท่าใด ขอให้มอบให้เด็กชายอาพร สวิรสวิสดิ์เป็นผู้เบิกถอนได้เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ถ้าเด็กชายอาพร สวิรสวิสดิ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะเบิกหรือถอนเงินจำนวนที่เหลือนี้ทั้งหมดไม่ได้ ให้เบิกมาใช้จ่ายได้แต่พอสมควร แล้วแต่นางสาวผ่อน ธนโกเศสจะเห็นสมควรได้อ่านทานให้นางลำดวน โกสากรฟังแล้ว ได้เขียนชื่อลายมือต่อหน้าผู้รู้เห็นไว้เป็นสำคัญ

เล็ก อมเรศสมบัติ

ต่อหน้า

ลำดวน

พ.ต.ณรงค์ อินทรสูต ผู้เขียน

ต่อมานางลำดวนตาย โจทก์จึงฟ้องเรียกให้นางชลอส่งเงินจำนวนนี้ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกนางลำดวน จำเลยอ้างว่า นางลำดวนได้ยกเงินรายนี้ให้แก่นายอาภรณ์ นางชลอได้นำเงินจำนวนนี้มาวางศาล

ศาลแพ่งฟังว่า ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 เป็นการแสดงเจตนาให้นางชลอปฏิบัติในทันทีในทันใด มากกว่าเป็นพินัยกรรม แม้จะถือว่าเป็นพินัยกรรม ก็ไม่มีพยานครบถ้วน พิพากษาให้คืนเงินให้แก่โจทก์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นพินัยกรรม มีผลใช้ได้พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นว่า เอกสารหมาย จ.1 มีลักษณะเป็นพินัยกรรม แต่ทำไม่ถูกต้องตามที่กำหนดเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า เอกสารฉบับนี้ได้มีข้อกำหนดเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของนางลำดวนว่า ให้ยกเงินสองหมื่นบาทให้แก่เด็กชายอาภรณ์ เมื่อนางลำดวนตายแล้ว จึงมีลักษณะเป็นพินัยกรรม ปรากฏว่าในเอกสารหมาย จ.1 นอกจากข้อความตอนท้ายว่า นางลำดวนได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้รู้เห็นไว้เป็นสำคัญแล้ว ยังมีคำว่าต่อหน้าอยู่ระหว่างกึ่งกลางลายมือชื่อคุณหญิงเล็ก กับพันตรีณรงค์ด้วย นับได้ว่าเป็นข้อความอันแสดงว่าบุคคลทั้งสองนี้ได้ลงชื่อในฐานะเป็นพยาน และพันตรีณรงค์เบิกความว่า “ที่ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.1 เพื่อเป็นหลักฐานในการรู้เห็นของข้าพเจ้า ที่นางลำดวนลงชื่อต่อหน้าข้าพเจ้า” เช่นนี้ พินัยกรรมรายนี้นับว่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว อนึ่งแม้มาตรา 1671 จะมีข้อความว่า ถ้าผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรมเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานคนอื่น ๆ ก็ดี ความมุ่งหมายสำคัญของมาตรานี้ เพื่อให้มีข้อความแสดงว่า ผู้เขียนนั้นเป็นพยานด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีข้อความเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนข้อเถียงว่าพยานลงชื่อก่อนนางลำดวนนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทั้งนางลำดวนและพยานได้ลงชื่อของตนในเวลาที่อยู่พร้อมกันในขณะนั้น การที่นางลำดวนหรือพยานจะลงชื่อก่อนหรือหลัง จึงหาใช่ข้อสำคัญ

พิพากษายืน

Share