แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทุจริตแสดงตัวเป็นโจทก์ขอรับโอนมรดกที่ดินแล้วโอนขายให้จำเลย ขอให้เพิกถอนการรับโอนมรดกและการซื้อขายภายหลังขอเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยทำสัญญายอมความ โดยจำเลยยอมโอนคืนที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์ชำระเงินที่ผู้อื่นเป็นลูกหนี้จำเลยให้จำเลย 200บาทเมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรายนี้ให้โจทก์แล้วจึงขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญายอมความนี้ ถือว่าเป็นคนละลักษณะกับฟ้องเดิมคำขอบังคับก็ขัดกันเท่ากับขอเลิกฟ้องเดิมแล้วเอาใหม่ไม่ใช่เพิ่มเติมฟ้องกรณีต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคท้ายซึ่งบัญญัติห้ามไว้ไม่ให้กระทำ ศาลชอบที่จะยกเสียตาม มาตรา 180โจทก์จะได้ไปฟ้องเป็นคดีใหม่
ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้โดยลงชื่อรับผิดไว้แก่เขาแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเขาย่อมฟ้องให้รับผิดตามสัญญาที่ตนลงลายมือชื่อไว้ได้ โดยไม่เป็นปัญหาว่าเขาได้ตั้งตัวแทนให้ทำสัญญากับจำเลยหรือไม่ ซึ่งต่อมาเขาได้รับรองสัญญานั้นแล้วด้วย
ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ถ้าศาลชั้นต้นไม่สั่งแต่มาในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นพิพากษาให้ แสดงว่าได้อนุญาตให้เพิ่มเติมคำฟ้องนี้ เรื่องได้ผ่านมาจนเช่นนี้และไม่มีฝ่ายใด ร้องฎีกาขึ้นมาจึงไม่สมควรที่ศาลฎีกาจะรื้อฟื้นแก้เป็นอย่างอื่น
การที่โจทก์ขอดำเนินการทางสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะให้จำเลยรับผิดตามสัญญานั้น ไม่ติดใจที่จะเอาตามมูลคดีเดิมที่ฟ้องไว้ จำเลยไม่ได้ฎีกาเถียงสัญญานี้ว่าใช้ไม่ได้ด้วยประการใด เป็นแต่ว่าทนายโจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญานั้น ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทนายโจทก์ทำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจำเลยได้ทำสัญญานั้นหรือไม่จึงพิพากษายืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลย ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนรับมรดกและการซื้อขาย ให้จำเลยส่งโฉนดคืนห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยต่อสู้ว่า ได้ซื้อที่ดินจากฝ่ายโจทก์ครอบครองมา 12 ปีเศษแล้ว
ต่อมาทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยได้มาทำสัญญายอมความไว้กับทนายโจทก์แล้วดั่งสำเนาซึ่งส่งมา บัดนี้จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม จึงขอเพิ่มเติมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญายอมความนี้
จำเลยต่อสู้ว่า ทนายโจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญายอมความนอกศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนรับมรดกและการโอนซื้อขายที่ดินเสีย คำขอข้ออื่นบังคับไม่ได้
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เป็นตามสัญญาประนีประนอมยอมความคือให้จำเลยโอนคืนโฉนดที่ 1184 ให้โจทก์ชำระเงินที่นายชื่นเป็นลูกหนี้จำเลย ให้จำเลย 200 บาท เมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรายนี้ให้โจทก์แล้ว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ควรให้เพิ่มเติมฟ้อง เพราะแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ดี แต่เป็นคนละตอน และเป็นคนละลักษณะกับคำฟ้องเดิมประกอบทั้งตามคำร้องของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยตามสัญญายอมความ ซึ่งขัดกับคำขอในคำฟ้องเดิม เท่ากับขอเลิกฟ้องเดิมแล้วเอาใหม่ ไม่ใช่เพิ่มเติมฟ้องเดิมเลย เพราะเมื่อถือตามสัญญายอมความนี้แล้ว ข้อหาในคำฟ้องเดิมก็ตกไปสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องพอจะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ กรณีต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคท้าย แต่มาในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นพิพากษาให้ แสดงว่าได้อนุญาตให้เพิ่มเติมคำฟ้องนี้ เรื่องได้ผ่านมาจนเช่นนี้และไม่มีฝ่ายใด ร้องฎีกาขึ้นมาจึงไม่สมควรที่ศาลฎีกาจะรื้อฟื้นแก้เป็นอย่างอื่น
การที่โจทก์ขอดำเนินการทางสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะให้จำเลยรับผิดตามสัญญานั้น ไม่ติดใจที่จะเอาตามมูลคดีเดิมที่ฟ้องไว้ จำเลยไม่ได้ฎีกาเถียงสัญญานี้ว่าใช้ไม่ได้ด้วยประการใด เป็นแต่ว่าทนายโจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญานั้นซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทนายโจทก์ทำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจำเลยได้ทำสัญญานั้นหรือไม่ จึงพิพากษายืน