คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซึ่งมีข้อความในตอนต้นว่ากู้เงินเอาที่ดินเป็นประกัน และตีราคาที่ดินไว้ด้วย แต่ในตอนท้ายมีว่า ยอมให้ทำนานั้นต่างดอกเบี้ยจนกว่าจะได้ไปทำหนังสือสัญญาซื้อขายทางอำเภอดังนี้ สัญญานั้นอาจเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และน่าจะไม่ใช่กู้เงินกันอย่างแท้จริง
เอกสารสัญญาซึ่งอาจตีความหมายได้เป็น 2 นัยดังกล่าวคู่ความอาจนำสืบประกอบเพื่อตีความหมายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงด้วยวาจาขายที่นา 2 แปลงให้โจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้ว 1,000 บาท มอบที่นาดังกล่าวให้โจทก์ครอบครองและได้ทำหนังสือสัญญากันไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาท้ายฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธเรื่องจะขายที่ดินต่อสู้ว่าได้กู้เงินโจทก์ 1,000 บาท เอาที่ดินเป็นประกัน คู่ความรับกันว่าสัญญากู้ที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารแท้จริง เอกสารดังกล่าวทำในแบบพิมพ์สัญญากู้ มีข้อความตอนต้นว่า “นายหมีได้กู้เงินนายคงเป็นเงิน 1,000 บาท เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้าได้กู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเอาที่นา ฯลฯ ราคา 3,000 บาท ให้ยึดถือไว้เป็นประกัน” ต่อไปข้อ 4 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ายอมให้ทำนาต่างดอกเบี้ยแก่ท่านทุกเดือนไปจนกว่าจะได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายทางอำเภอ” โจทก์ขอสืบพยานประกอบหนังสือสัญญาว่า จำเลยยอมขายนา 2 แปลงนี้ให้โจทก์ก่อนและได้เขียนไว้ในสัญญาแต่ไม่ชัดเจน จำเลยขอสืบแก้ในข้อนี้

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายและพิพากษาว่าเป็นกู้เงินกัน โจทก์จะสืบพยานนอกเหนือสัญญากู้หาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ให้จำเลยใช้เงิน 1,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งแต่วันฟ้องจนชำระเงินเสร็จ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ความในสัญญาข้อ 4 เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่าน่าจะไม่ใช่กู้เงินกันอย่างแท้จริง คงจะเป็นเรื่องขายนากันดังโจทก์อ้างก็เป็นได้ และแสดงว่าคงจะได้มีการตกลงซื้อขายที่นากันอยู่ก่อนแล้ว หากกู้เงินกันตามธรรมดาแล้วจะเขียนสัญญาข้อ 4ไว้เพื่ออะไร เมื่อสัญญามีข้อความซึ่งอาจตีความหมายได้เป็นสองนัยดังนี้ คู่ความอาจนำสืบพยานประกอบเพื่อตีความหมายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลทั้ง 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานและพิพากษาใหม่

Share