คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1168/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม มาตรา 344 ฐานจดบัญชีห้างหุ้นส่วนเท็จนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจเป็นโจทก์ฟ้องได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี จำเลยฎีกาในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาอาจพิพากษาให้รอการลงโทษได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและร้องเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้เข้าหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ทำการผสมสุราส่งให้บริษัทมิตรทหารโดยโจทก์เป็นผู้ออกเงิน จำเลยออกแรง และเป็นผู้จัดการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2491 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2492 ในปีพ.ศ. 2493 ศาลได้พิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนชำระบัญชี โจทก์จึงทราบความทุจริตของจำเลยที่เจตนาจะฉ้อโกงโจทก์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วน โดยเมื่อระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2492 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2494 วันเวลาไม่ปรากฏ จำเลยได้บังอาจทำบัญชีแสดงต่อนายยง จารุเศรณี ผู้ตรวจบัญชีโดยจำเลยลงข้อความเท็จ คือรายการต่อไปนี้ (1) ค่าเครื่องผสมสุรา เป็นเงิน 58,885 บาท 85 สตางค์ ความจริงจำเลยจ่ายไม่เกิน 22,962 บาท(2) ค่าแรงงานผสมสุรา 18,450 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 5,740 บาท 50 สตางค์ (3) ค่าครั่ง 2,750 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 574 บาท 08 สตางค์ (4) ค่าจุกขวด 2,550 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 770 บาท (5) ค่าพาหนะต่าง ๆ 5,345 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 1,400 บาท (6) ค่าน้ำตาล 10,108 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 1,400 บาท (7) ค่าถ่านและสบู่ 2,870 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 325 บาท 29 สตางค์ (8) ค่าจ้างพิเศษ 1,052 บาท ความจริงมิได้จ่ายเลย หรือหากมีจ่ายก็เพียงเล็กน้อย ไม่ถึงจำนวนที่ลงไว้ (9) ค่าพิมพ์สลากสุรา 7,720 บาท ความจริงจ่ายไม่เกิน 4,900 บาทนอกจากนี้จำเลยยังบอกให้นายยง จารุเศรณี ผู้ตรวจชำระบัญชีจดแจ้งข้อความเท็จลงในบัญชีงบดุลว่า นางสายทองเป็นเจ้าหนี้หุ้นส่วนอยู่ 10,000 บาท และร้อยโทสังวาลย์เป็นเจ้าหนี้อยู่ 5,000 บาท

เมื่อระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2491 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2494 วันเวลาไม่ปรากฏ จำเลยได้ฉ้อโกงโจทก์โดย (ก) แก้ไขขีดฆ่าตัวเลขในบัญชีรับจ่ายรายวันวันที่ 11 มิถุนายน 2492 ว่า โจทก์ได้รับเงินไป 2 คราว ๆ ละ 500 บาท อีกคราวหนึ่ง 1,500 บาท ซึ่งความจริงโจทก์ได้รับไป 2 คราว ๆ ละ 500 บาท (ข) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2492 จำเลยบังอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงขีดฆ่า ซึ่งความจริงโจทก์ได้รับเงินไปจากจำเลย 2 คราว ๆ ละ 500 บาท ในบัญชีนั้นเสียแล้วลงข้อความเท็จใหม่เป็น 1,500 บาท ทั้งสองคราว

เมื่อหยุดกิจการหุ้นส่วนแล้ว ยังมีสุราผสมเหลือ 41 เท 10 ลิตรเมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2493 วันเวลาไม่ปรากฏ จำเลยได้ส่งสุราที่เหลือนี้ให้บริษัทมิตรทหารจำกัด และรับเงินค่าผสม 1,452 บาท 50 สตางค์แล้วจำเลยบังอาจฉ้อโกงโจทก์โดยไม่ลงบัญชีน้ำสุรารายนี้และเงินค่าผสมทั้งไม่แสดงรายการและจำนวนเงินแก่ผู้ชำระบัญชีเหตุเกิดตำบลศรีภูมิ ตำบลป่าตันอำเภอฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 344 ที่แก้ไขเพิ่มเติม

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าบัญชีที่ทำขึ้นเป็นความจริงและว่าฟ้องเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และวินิจฉัยว่า เรื่องการจ่ายตามฟ้องข้อ 2(1) ถึง (8) จำเลยได้ลงบัญชีไว้ไม่แท้จริง ทั้งของเหลือใช้ก็ไม่มีเลย ส่วนตามฟ้องที่ว่าจำเลยได้แจ้งกับผู้ชำระบัญชีว่าได้กู้เงินนางสายทอง และร้อยโทสังวาลย์นั้น การชำระบัญชีจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำจึงไม่ผิด ตามฟ้องข้อ 3 เรื่องเงินปันผลแม้ตัวเลขในบัญชีเงินปันผลจะมีสีหมึกแปลกอยู่บ้างโจทก์ไม่ได้ให้ผู้ชำนาญพิสูจน์ ยังฟังไม่ชัดว่าจำเลยเติมเลขดังฟ้องตามฟ้องข้อ 4 ค่าผสมสุราเหลือค้างปี 1,452 บาท 50 สตางค์จะฟังว่าจำเลยละเลยไม่ลงบัญชียังไม่ได้ คงฟังแต่ว่าจำเลยลงรายการจ่ายในบัญชีหุ้นส่วนตามฟ้องข้อ 2 เป็นเท็จจริง พิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 344

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเต็มตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีความผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้แล้ว จึงพิพากษายืน ยกอุทธรณ์โจทก์และจำเลย

จำเลยฎีกา อ้างว่าเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นมีความรวมได้ 2 ประการคือว่า (1) ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม และ (2) ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา

ในปัญญาข้อ (1) ที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายในวิธีพิจารณา

ศาลนี้ได้พิจารณาข้อความในฟ้องของโจทก์ตลอดแล้ว เห็นว่าโจทก์กล่าวข้อความในฟ้องถึงการกระทำของจำเลย ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่แห่งการกระทำ รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น เพียงพอแก่การที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้เป็นอย่างดี ถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายในเรื่องนี้แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

ในปัญหาข้อ (2) ที่ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ในข้อนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันมาว่า ข้อเท็จจริงมิได้แตกต่างดังที่จำเลยฎีกาและความข้อนี้ก็เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง หาใช้เป็นข้อกฎหมายไม่จำเลยมิอาจที่จะฎีกาในข้อนี้ได้

บัดนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงประนีประนอมกันโดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 185/2494 เป็นจำนวนเงิน 13,000 บาท โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีแพ่งแล้ว ส่วนคดีอาญาซึ่งยังอยู่ในระหว่างฎีกานี้ โจทก์เห็นว่า เมื่อจำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์แล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยต่อไป โจทก์เห็นควรกรุณาแก่จำเลย เพราะมีบุตรเล็ก ๆ ถึง 3 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งครอบครัว โจทก์จึงร้องขอต่อศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาโทษจำเลยในฐานที่เบา คือปรับอย่างต่ำหรือรอการลงอาญาจำเลยไว้

ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ ก็มีเหตุที่ควรกรุณาแก่จำเลย

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้รอการลงอาญาแก่จำเลยไว้ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41-42

Share