แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เดิมที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของคนเดียวกันเมื่อแบ่งแยกแล้วทางพิพาทอยู่ในที่ดินส่วนของจำเลย แม้โจทก์จะได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะมาเกิน 10 ปีการที่โจทก์อยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินนั้นใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะในระหว่างนั้น ย่อมเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะเป็นบริวารและใช้โดยอาศัยอำนาจของเจ้าของเดิมเมื่อที่ดินเป็นของเจ้าของรายเดียวกัน ย่อมไม่มีเจ้าของสามยทรัพย์กับเจ้าของภารยทรัพย์อันจะทำให้เกิดมีภารจำยอมขึ้นได้ ผู้อยู่ในที่ดินจะใช้ทางนานเพียงใด ทางพิพาทก็ไม่ตกอยู่ในภารจำยอม อายุความการได้ภารจำยอมหากจะมีก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่ได้แบ่งแยกที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14397ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลย โจทก์ได้ใช้ทางเดินผ่านในที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ทางดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอมของโจทก์ต่อมาก่อนฟ้องคดีนี้ประมาณ 1 ปี จำเลยไม่ยอมให้โจทก์กับบริวารเดินผ่านที่ดินจำเลย และจำเลยได้สร้างกำแพงปิดกั้นทางเดินพิพาทขอให้บังคับจำเลยรื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางเดินพิพาทและให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภารจำยอม โจทก์อาศัยที่ดินของจำเลยเป็นทางเดินผ่านโดยถือวิสาสะในฐานะญาติสนิทเดิมที่ดินโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับโฉนดเลขที่ 2292ซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในฐานะผู้รับมรดกเพิ่งทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์เป็นส่วนของโจทก์เมื่อวันที่25 มกราคม 2516 เมื่อปี พ.ศ. 2525 จำเลยจะใช้ที่ดินของจำเลยทำประโยชน์จึงแจ้งให้โจทก์ใช้ทางเดินอื่น จำเลยจึงสร้างกำแพงล้อมที่ดินของจำเลย โจทก์ใช้ทางเดินผ่านที่ดินจำเลยนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2516 ถึงเดือนตุลาคม 2525 เป็นเวลา 9 ปี 9 เดือน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อกำแพงส่วนที่ปิดกั้นทางเดินพิพาทตามแนวกั้นสีเขียวอ่อนเอกสารหมาย จ.ล.1 กว้างประมาณ 3 เมตรและให้จำเลยจดทะเบียนทางเดินพิพาทให้เป็นทางภารจำยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าเดินที่ดินโฉนดเลขที่ 2292 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลวิชิตอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นที่ดินของนางซิ่วก่ำซึ่งเป็นทรัพย์มรดกได้แก่โจทก์ จำเลยรวมทั้งทายาทคนอื่น ๆเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2514 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกโอนมรดกที่ดินดังกล่าวแก่ทายาท เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2515 และออกโฉนดที่ดินส่วนที่แยกออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 14397 ให้โจทก์และนางพนิดาหรือวนิดาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2516 ต่อมาวันที่10 มกราคม 2517 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินบางส่วนจากโฉนดเลขที่ 14397ให้แก่นางพนิดาและนายวิลาศ ทองเต็ม คงเหลือที่ดินเป็นของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 14397 ส่วนของจำเลยคงเหลือตามโฉนดเลขที่ 2292ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1, จ.1, จ.6 และ จ.7 ตามลำดับ ที่ดินของโจทก์จำเลยอยู่ติดกัน ทางพิพาทอยู่ในที่ดินส่วนของจำเลยที่แบ่งแยกแล้ว โจทก์ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมาประมาณ30 ปีแล้ว และจำเลยได้สร้างกำแพงปิดกั้นทางพิพาทเมื่อเดือนตุลาคม 2525 ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยหรือไม่จำเลยฎีกาว่า เดิมไม่มีทางเดินผ่านที่ดินของจำเลย ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2517 โจทก์ในฐานะญาติได้ขออาศัยเดินผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะ เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2292เดิมเป็นของนางซิ่วก่ำ ซึ่งโจทก์เป็นหลานมาประมาณ 30 ปีแล้วและอยู่ร่วมกับครอบครัวของโจทก์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันการเข้าออกสู่ทางสาธารณะต้องเดินผ่านที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองซึ่งเป็นทางพิพาท ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางซิ่วก่ำได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสัดส่วนรวม 3 ส่วนโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ร่วมกับนางพนิดาซึ่งโจทก์และบริวารต้องใช้ทางเดินพิพาท (สีเขียวอ่อน) ตามแผนที่กลางเอกสารหมาย จ.ล.1ผ่านที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยจำเลยไม่เคยหวงห้ามแต่ประการใด จนกระทั่งก่อนฟ้องคดีนี้ 1 ปี จำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทดังกล่าวจึงได้ทำรั้วกำแพงปิดกั้นนอกจากโจทก์เบิกความยืนยันดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีนายโปอั้น ภาษีซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ดังกล่าวระหว่างปี 2504 ถึง 2522กับนายเสถียร เทพบุตร กำนันในท้องที่ดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานว่า มีทางเดินจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยตามเส้นทางสีเขียวอ่อน เอกสารหมาย จ.ล.1 ออกสู่ถนนสาธารณะพยานกับโจทก์และบริวารได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกที่ดินของโจทก์มากว่า 10 ปี และโจทก์มีนายประยุทธ อิสรชัย นายช่างผู้ทำแผนที่พิพาทกลางเอกสารหมาย จ.ล.1 มาเบิกความเป็นพยานว่าทางพิพาทสีเขียวอ่อนดังกล่าวมีสภาพเป็นทางมีทรายสีขาวโรยรถยนต์สามารถวิ่งผ่านไปมาได้ พยานโจทก์ดังกล่าวต่างเบิกความสอดคล้องต้องกัน มิได้มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดฟังว่าเป็นพยานคนกลาง จึงน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริงจึงรับฟังสนับสนุนคำของโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าพิพาทนี้โจทก์ได้ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะมาช้านานก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดออกเป็นสัดส่วนแล้ว ที่จำเลยนำสืบโต้เถียงว่า โจทก์เพิ่งมาเดินในทางพิพาทหลังจากที่ได้มีการแบ่งแยกโฉนดแล้วฟังไม่ขึ้นปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกสู่ทางสาธารณะจนเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ เห็นว่า เดินที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของคนเดียวกันคือนางซิ่วก่ำก่อนมีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนของโจทก์และจำเลย แม้จะฟังว่าทางพิพาทนี้โจทก์ได้ใช้เป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะมาช้านานเกิน 10 ปีแล้วก็ตาม การที่โจทก์อยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะในระหว่างนั้นย่อมเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะเป็นบริวารและใช้โดยอาศัยอำนาจของนางซิ่วก่ำผู้เป็นเจ้าของเมื่อที่ดินเป็นของเจ้าของรายเดียวกันก็ย่อมไม่มีเจ้าของสามยทรัพย์กับเจ้าของภารยทรัพย์อันจะทำให้เกิดมีภารจำยอมขึ้นได้ ผู้อยู่ในที่ดินนั้นจะใช้ทางไปนานเพียงใด ทางพิพาทก็ไม่ตกอยู่ในภารจำยอมอายุความการได้ภารจำยอมหากจะมีก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่ได้แบ่งแยกที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ไป ในข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับพวกได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะเกินกว่า 1 ปี จึงตกเป็นภารจำยอมตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ของที่ดินของโจทก์นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าเกี่ยวกับที่ดินของนางซิ่วก่ำนี้ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินทำการแบ่งแยกเป็นโฉนดแปลงย่อยเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2514 ตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อแบ่งแยกแล้วเพิ่งจะได้มาจดทะเบียนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เมื่อวันที่25 มกราคม 2516 ศาลฎีกาเห็นว่าอายุความที่จะได้ภารจำยอมในทางพิพาทต้องเริ่มนับแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2516 ซึ่งได้มีการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว เพราะก่อนการแบ่งแยกคงเป็นแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2292 แปลงเดียว โฉนดที่ดินหมายเลขที่ 14397 ที่โจทก์รับโอนมาในภายหลังยังหามีไม่ จึงไม่อาจนับเอาระยะเวลาก่อนการแบ่งแยกโฉนดมารวมเป็นอายุความการได้มาซึ่งภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงหมายเลข 14397 ของโจทก์และเมื่อเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2516ถึงเดือนตุลาคม 2525 ซึ่งจำเลยมีเจตนาหวงห้ามมิให้โจทก์และบริวารใช้ทางเดินพิพาทต่อไปด้วยการสร้างกำแพงรั้วปิดกั้นยังไม่ถึง10 ปี จึงยังไม่เกิดเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความตามที่โจทก์อ้างเมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อกำแพง ส่วนที่ปิดกั้นทางเดินพิพาทต้องกันมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์