คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส
ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้…” จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่
ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,660,983.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องสอดขอให้ยกฟ้อง และให้จำเลยชำระเงิน 4,330,491.80 บาท ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1
ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง
จำเลยให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 จำเลยนำเงิน 8,660,983.60 บาท มาวางศาลเพื่อให้จ่ายแก่ผู้มีสิทธิตามคำพิพากษาของศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,660,983.60 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องของโจทก์ทั้งสองให้เป็นพับ ให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง และผู้ร้องสอดที่ 1 ฝ่ายละ 4,330,491.80 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของพลโทบุญเชิด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2533 พลโทบุญเชิดสมัครเป็นสมาชิกของจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2535 พลโทบุญเชิดทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์เพื่อรับเงินหรือสิทธิในการเป็นสมาชิกจำเลยในกรณีถึงแก่ความตายไว้ โดยระบุให้นางสาวบุษบง นางสาวบุษบา นางสาวบุษกร นางสาวบุษราภรณ์ และโจทก์ทั้งสอง เป็นผู้รับประโยชน์ พลโทบุญเชิดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 วันที่ 25 ธันวาคม 2557 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 2 คือผู้ร้องสอดที่ 1 และนางสาวบุษบงร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของพลโทบุญเชิด จำเลยต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ของพลโทบุญเชิดทั้งหมดตามสำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังกล่าวเป็นเงิน 25,982,950.77 บาท จำเลยได้จ่ายเงินให้แก่นางสาวบุษบง นางสาวบุษบา นางสาวบุษกรและนางสาวบุษราภรณ์ ไปแล้วคนละ 4,330,491.80 บาท โดยผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งว่ามีสินสมรสส่วนของผู้ร้องสอดที่ 1 รวมอยู่ด้วย แต่จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากผู้ร้องสอดที่ 2 คัดค้าน เงินผลประโยชน์ที่จำเลยต้องจ่ายมี 3 ประเภท คือเงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิต 80,000 บาท เงินค่าหุ้นสะสม 3,692,000 บาท และเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ 4 บัญชี เป็นเงิน 22,210,950.77 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,982,950.77 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีสำหรับผู้ร้องสอดที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิต 80,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับคนละ 1 ใน 6 ตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโทบุญเชิด ที่ผู้ร้องสอดที่ 1 มีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่งตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ การที่จะเป็นสินสมรสจะต้องเป็นกรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยาหรือคู่สมรสได้มาระหว่างเป็นคู่สมรส เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิต 80,000 บาท เป็นเงินของจำเลยที่จ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโทบุญเชิดซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโทบุญเชิดได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 แต่ได้มาหลังจากที่พลโทบุญเชิดถึงแก่ความตายอันทำให้การสมรสระหว่างพลโทบุญเชิดและผู้ร้องสอดที่ 1 สิ้นสุดลง ดังนั้น เงินช่วยเหลือพลโทบุญเชิดซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลย 80,000 บาท ซึ่งมีส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับคนละ 1 ใน 6 ตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์จึงไม่ใช่สินสมรสระหว่างพลโทบุญเชิดและผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ผู้ร้องสอดที่ 1 จะมีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่งตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินผลประโยชน์ที่จำเลยต้องจ่าย 2 ประเภท คือเงินค่าหุ้นสะสม 3,692,000 บาท และเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ 4 บัญชี เป็นเงิน 2,210,950.77 บาท ในส่วนที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 6 จำเลยต้องชำระให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 กึ่งหนึ่งตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส…” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ” ข้อเท็จจริงได้ความว่าพลโทบุญเชิด ได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลย โดยใบสมัครเป็นสมาชิกดังกล่าว ข้อ 7 ระบุว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้ซึ่งข้าพเจ้าต้องส่งชำระต่อสหกรณ์จากเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้าเมื่อจ่ายส่งชำระต่อสหกรณ์” จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโทบุญเชิด ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 (1) ส่วนเงินฝากในสหกรณ์ทั้ง 4 บัญชีนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นเงินที่ได้มาจากที่ใดบ้าง กรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง นอกจากนี้ เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโทบุญเชิดได้มาระหว่างเป็นคู่สมรสกัน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทกฎหมายข้างต้น โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่นำสืบหักล้าง แต่ก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้าง กลับนำสืบยอมรับว่า เงินทั้งสองจำนวนเป็นสินสมรส ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเงินสองประเภทดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโทบุญเชิด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำเงินสินสมรสไปชำระค่าหุ้นแล้วเงินดังกล่าวกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลย (สหกรณ์) ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 33 (3) มิใช่เงินฝากหรือการฝากทรัพย์ สมาชิกมีเพียงสิทธิเรียกร้องในเงินเรือนหุ้นเท่านั้น และสิทธิเรียกร้องในเงินทุนเรือนหุ้นจะยังไม่เกิดจนกว่าสมาชิกจะพ้นจากการเป็นสมาชิก ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 34 (4) ประกอบมาตรา 43 (5) และตามข้อบังคับของสหกรณ์ สิทธิเรียกร้องในเงินทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโทบุญเชิดอยู่ ยิ่งกว่านั้นในการที่พลโทบุญเชิดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งตามสำเนาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิก ข้อ 8 ก็ระบุว่า “ข้าพเจ้าทราบและเข้าใจข้อความในข้อบังคับสหกรณ์โดยตลอดแล้ว ยินยอมชำระเงินค่าหุ้น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกตามกำหนดเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด” และข้อ 9 ระบุว่า “ข้าพเจ้าเต็มใจปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสหกรณ์ทุกประการ” ยิ่งกว่านั้นตามสำเนาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพลโทบุญเชิดดังกล่าวมีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ระบุว่า “ข้าพเจ้า นางสุวิมล เป็นสามี/ภรรยาของพล.ต.บุญเชิด ผู้สมัคร ยินยอมให้ผู้สมัครทำนิติกรรมอันเป็นการจัดการสินสมรสของข้าพเจ้าและคู่สมรสกับสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ทุกกรณีตั้งแต่วันที่คู่สมรสของข้าพเจ้าสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์และถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของข้าพเจ้าในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับสหกรณ์ ” โดยผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ลงชื่อในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย เพียงแต่ลงชื่อในช่องผู้รับรอง (ของผู้บังคับบัญชา) ซึ่งอยู่ด้านบนข้อความยินยอมน่าจะเป็นการลงชื่อผิดช่อง กรณีนี้ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อยินยอมให้พลโทบุญเชิดจัดการสินสมรสส่วนของตนและยินยอมให้ทำนิติกรรมกับสหกรณ์ตามข้อบังคับของสหกรณ์แล้ว ประกอบกับข้อบังคับของสหกรณ์ ข้อ 43 ระบุว่า “การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สมาชิกจะต้องทำเป็นหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์เมื่อตนตายมอบให้สหกรณ์ ไว้…” ซึ่งพลโทบุญเชิดได้ทำหนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ไว้แล้วโดยมีโจทก์ทั้งสองและบุตรของผู้ร้องสอดที่ 1 อีก 4 คน เป็นผู้รับประโยชน์ไว้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับสินสมรสส่วนของผู้ร้องสอดที่ 1 และยินยอมหรือมอบอำนาจให้พลโทบุญเชิดเป็นตัวแทนทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วในส่วนสินสมรสของตนด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 และสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ตามลำดับ โดยในส่วนของสัญญาระหว่างสมรส (ยินยอมให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับสินสมรสส่วนของผู้ร้องสอดที่ 1) ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ได้บอกล้างในระหว่างเป็นสามีภริยากันและเมื่อพลโทบุญเชิดถึงแก่ความตายไปแล้วผู้ร้องสอดที่ 1 ก็ไม่มีคู่กรณีที่จะบอกล้างที่จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับเนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีคู่สมรสตาย ดังนี้ถือว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสภายในกำหนดตามมาตรา 1469 ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่สุจริตอย่างไรจึงไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 1469 ตอนท้าย ส่วนสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกเมื่อปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ชำระเงินอันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว สิทธิของโจทก์ทั้งสองย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่จำเลยตามมาตรา 374 วรรคสอง คู่สัญญาซึ่งรวมทั้งผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ยินยอมหรือมอบอำนาจให้พลโทบุญเชิดเป็นตัวแทนหาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ทั้งนี้ตามมาตรา 375 ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นสะสมและเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ 4 บัญชีในส่วนที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 6 กึ่งหนึ่ง รวมเป็นเงิน 4,250,491.80 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดที่ 1 ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share