คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7813/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เพื่อศาลแรงงานกลางจะได้ส่งปัญหา ดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับค่าคอมมิชชั่นขึ้นต่อสู้ไว้ใน คำให้การ แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีแล้ว จำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่านายหน้า ๕๔,๘๙๒.๗๒ บาท และเงินสะสม ๙,๙๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ กับค่านายหน้า ๔๐๒,๘๐๙.๖๔ บาท และเงินสะสม ๑๑,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้รับเงินสะสมไปแล้ว และจำเลยยกเลิกค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) แล้ว จึงไม่จำต้องจ่ายค่านายหน้าและเงินสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขายเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ โจทก์ที่ ๑ ขายสินค้าจำนวนหนึ่งให้แก่ลูกค้า ของจำเลย จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองไว้เป็นเงินสะสมในส่วนของโจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๙,๙๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๑,๒๕๐ บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ยังไม่ได้รับเงินสะสมและค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) จากการขายสินค้า ในประเด็นเรื่องโจทก์ทั้งสองได้เงินสะสมคืนแล้วหรือไม่นั้น เมื่อจำเลยรับว่ายังค้างชำระเงินสะสมแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินสะสมคืนส่วนในเรื่องจำเลยยกเลิก ค่าคอมมิชชั่นแล้วหรือไม่นั้น จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องการเก็บเงินค่าสินค้าและการจ่ายค่าคอมมิชชั่นไว้ จำเลยจึงยกเอาเรื่องที่ให้งดการจ่ายค่าคอมมิชชั่นชั่วคราวมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่น แก่โจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นจากจำเลยเมื่อหักจากที่ได้รับเงินไปแล้วบางส่วนเหลือเป็นเงิน ๓๘๒,๘๐๙.๖๔ บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๖๔,๗๙๒.๗๒ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๓๙๔,๐๕๙.๖๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิพากษาคดีในเรื่อง ค่าคอมมิชชั่น จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา ๙ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นใน ศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษา ศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” เห็นได้ว่า การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่นั้น จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่อง ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับค่าคอมมิชชั่นขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสะสมและค่าคอมมิชชั่นแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๖๔,๗๙๒.๗๒ บาท และแก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๓๙๔,๐๕๙.๖๔ เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานและเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้นท่านให้คิด ดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี…” โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยผิดนัด การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย แก่โจทก์ทั้งสองจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ) จึงเป็นการวินิจฉัยที่ ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน.

Share