แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายทะเลของประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มี ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ เมื่อเกิดมีคดีขึ้น จึงควรเทียบวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
สัญญาประกันภัยทางทะเลทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อเทียบเคียงวินิจฉัย
คำว่า “อันตรายทางทะเล” หรือ “ภยันตรายแห่งทะเล” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “PERILOFTHESEA” นั้น ย่อมหมายถึงภยันตรายใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นวิสัยที่ท้องทะเลจะบันดาลได้ หาจำจะต้องคำนึงถึงว่า ขณะนั้นทะเลเรียบร้อยอยู่หรือทะเลเป็นบ้าอย่างใดไม่ การที่เรือเกิดรั่วต้องอับปางลงในระหว่างเดินทางในทะเลโดยไม่ใช่ความผิดของใคร ย่อมเป็นอันตรายที่เรือนั้นจะต้องประสพโดยวิสัยในการเดินทางผ่านทะเลอยู่แล้ว เป็นอันตรายทางทะเลตามความหมายแห่งการประกันภัยทางทะเลแล้ว ตามที่ศาลอังกฤษถือตามกันมาก็ถืออันตรายที่เกิดขึ้นโดยโชคกรรมจากทะเลหรือเนื่องจากทะเล
โจทก์ได้ประกันภัยปูนซิเมนต์จำนวนหนึ่ง บรรทุกเรือยนต์ตรังกานูไปจังหวัดสงขลา ไว้กับจำเลย เรือตรังกานูออกจากท่ากรุงเทพฯจะไปจังหวัดสงขลา พ้นสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 10 ไมล์เศษเกิดมีคลื่นลมจัด เรือโคลงมาก และน้ำเข้าเรือมาก ถ้าไม่กลับเรือจะจมเรือตรังกานูจึงได้แล่นกลับ พยายามแก้ไขและวิดน้ำก็ไม่ดีขึ้น ในที่สุดน้ำท่วมเครื่องดับนายเรือให้สัญญาณบอกเหตุเรืออับปาง มีเรือยนต์อื่นมาช่วยถ่ายคนและลากเรือตรังกานูมาปล่อยไว้ที่กลางน้ำหน้าที่ทำการไปรษณีย์ปากน้ำแล้ว ได้จ้างเรือเล็กลากเข้าฝั่งเกยตื้นจมอยู่ที่ฝั่งป้อมผีเสื้อสมุทร ปูนซิเมนต์ถูกน้ำท่วมเสียหายสิ้นเชิงดังนี้ ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เนื่องจากเรือได้สูญเสียสิ้นเชิงเนื่องจากอันตรายทางทะเลแล้ว บริษัทผู้รับประกันต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ได้ประกันภัยปูนซิเมนต์ของบริษัทจำนวน 1,500 ถุงบรรทุกในเรือยนต์ “ตรังกานู” จากจังหวัดพระนครไปยังจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนเงิน 45,000 บาท บัดนี้ เรือยนต์ตรังกานูได้อับปางลงในอ่าวไทย ตอนแหลมปลายสะพานป้อมผีเสื้อสมุทร น้ำท่วมเต็มล้นปากระวางเรือ สินค้าและสิ่งของต่าง ๆ ที่บรรทุกในเรือ เสียหายหมดสิ้น เป็นการสูญเสียทั้งลำเรือ เป็นเหตุให้บริษัทโจทก์เสียหายปูนซิเมนต์ 1,500 ถุง จำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ใช้ค่าเสียหายตามจำนวนในกรมธรรม์ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยรับประกันภัยปูนซิเมนต์ของโจทก์ที่บรรทุกในเรือตรังกานู ต่อเมื่อเรือได้สูญเสียสิ้นเชิงเนื่องจากอันตรายทางทะเลโดยเฉพาะเท่านั้น เรือ “ตรังกานู” ไม่ได้รับอันตรายและที่เนื่องจากอันตรายทางทะเล เรือไม่ได้สูญเสียสิ้นเชิงตามสัญญาประกันภัยจำเลยไม่ได้รับประกันภัยอันตรายที่เกิดจากเหตุอื่นนอกเหนือไปจากที่เรือได้สูญเสียโดยสิ้นเชิงเนื่องจากอันตรายทางทะเล
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังว่าปูนซิเมนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลย ได้รับความเสียหาย (ซึ่งโจทก์จำเลยแถลงรับกันแล้วว่าเปียกน้ำเสียทั้งหมด) เพราะเรือสูญเสียสิ้นเชิงเนื่องจากอันตรายทางทะเล ซึ่งบริษัทจำเลยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุที่เกิดแก่เรือตรังกานูครั้งนี้ มิใช่เพราะภัยทางทะเล หากแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความชำรุดทรุดโทรมตามธรรมดา ทำให้เรือรั่วน้ำไหลเข้าเรือแล่นต่อไปไม่ได้ เป็นการเรียกได้ว่าเรือรั่วตามธรรมดา (Ordinary leakage) ไม่ใช่เกิดจากภัยทะเลตามข้อความในกรมธรรม์ บริษัทจำเลยไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ในความเสียหายครั้งนี้ต่อบริษัทโจทก์ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เรือตรังกานูได้บรรทุกปูนซิเมนต์ของโจทก์ที่เอาประกันวินาศภัยไว้กับจำเลยออกจากท่ากรุงเทพฯ จะไปจังหวัดสงขลา พ้นสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 10 ไมล์เศษ เกิดมีคลื่นลมจัด พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เรือโคลงมาก และน้ำเข้าเรือมากถ้าไม่กลับเรือจะจม เรือตรังกานูจึงได้แล่นกลับพยายามแก้ไขและปิดน้ำก็ไม่ดีขึ้นในที่สุดน้ำท่วมเครื่องดับ นายเรือให้สัญญาณบอกเหตุเรืออับปาง มีเรืออารมย์สินมาช่วยถ่ายคน และเรือวิกตอรี่ช่วยลากเรือตรังกานูมาปล่อยไว้ที่กลางน้ำหน้าที่ทำการไปรษณีย์ปากน้ำ แล้วได้จ้างเรือเล็กลากเข้าฝั่งเกยตื้นจมอยู่ที่ฝั่งป้อมผีเสื้อสมุทร ปูนซิเมนต์ถูกน้ำท่วมเสียหายโดยสิ้นเชิง
ได้ความว่า เหตุที่น้ำเข้าเรือนั้นเป็นเพราะแนวเรือแตก หมันของเรือหลุดทำให้ไม้คิ้วเรือแยกออกจากทวนหัวเรือ ตามความสันนิษฐานของนายช่างตรวจเรือ หัวเรือแยกเกิดจากเรือวิ่งฟันคลื่นก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะเรือไปกระแทกของแข็งอื่น ก็ได้
การที่เรือตรังกานูต้องจมลง แม้จะได้จ้างเรือเล็กจูงเข้าไปเกยตื้นไว้ แต่ก็ปรากฏว่าน้ำท่วมเต็มล้นปากระวางเรือสินค้าและสิ่งของต่าง ๆ ที่บรรทุกอยู่ในลำเรือเสียหายหมดสิ้น อาการเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการอับปาง เรือตรังกานูสิ้นสภาพที่จะเป็นเรือลอยลำอยู่ได้อีกแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นอาการที่ “เรือได้สูญเสียสิ้นเชิง” ตามความหมายของสัญญาประกันวินาศภัยที่ได้ตกลงกันไว้นั้นแล้ว การสูญเสียสิ้นเชิงหาจำจะต้องเป็นการเรือแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือกลายเป็นอากาศธาตุไปทั้งหมดตามคำโต้แย้งของจำเลยไม่
จำเลยโต้แย้งว่า คำว่า “อันตรายทางทะเล” ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หมายความแต่ว่าเป็นอันตรายซึ่งเกิดจากคลื่นลมพายุที่มีมาอย่างหนักผิดปกติ ฯลฯ
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำว่า “อันตรายทางทะเล” หรือ “ภยันตรายแห่งทะเล” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษที่ใช้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่า “Peril of the sea” นั้น ก็ย่อมหมายถึงภยันตรายใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นวิสัยที่ท้องทะเลจะบันดาลได้ หาจำต้องคำนึงว่า ขณะนั้นทะเลเรียบอยู่หรือทะเลเป็นบ้าอย่างใดไม่ การที่เรือเกิดรั่วต้องอับปางลงระหว่างเดินทางในทะเลโดยไม่ใช่ความผิดของใครเช่นนี้ ย่อมเป็นอันตรายที่เรือนั้นจะต้องประสบโดยวิสัยในการเดินทางผ่านทะเลอยู่แล้ว เป็นอันตรายทางทะเลตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยอันพึงอนุมานได้อยู่แล้ว
จริงอยู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 868 บัญญัติไว้ว่า “อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้ใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล” ซึ่งกฎหมายทะเลของประเทศไทยยังหามีไม่ ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ ควรเทียบวินิจฉัยคดีนี้ตามหลักกฎหมายทั่วไปตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาประกันภัยรายนี้ ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ศาลฎีกาเห็นว่าควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไป เพื่อเทียบเคียงวินิจฉัยด้วย แต่อย่างไรก็ดี แม้ตามมารีนอินชัวรันซ์แอคท์ ค.ศ. 1906 (Marine Insurance Act 1906) มาตรา 60 จะได้ให้คำจำกัดความในเรื่องสูญเสียสิ้นเชิง (Total loss) ไว้ให้มีความสูญเสียสิ้นเชิงโดยสันนิษฐาน (Constructive total loss) ได้ด้วย ก็ดีแต่ความในที่นั้นสำหรับที่จะใช้กับเรือ หมายถึงแต่เฉพาะในกรณีที่เรือเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเท่านั้น ในคดีนี้สินค้าปูนซิเมนต์ต่างหากเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย และก็ได้สูญเสียสิ้นเชิงไปโดยจริงจังแล้ว เพราะเหตุที่เรือบรรทุกหมดสภาพเป็นเรือที่ลอยลำได้ต่อไป ในกรณีที่ประกันสินค้าบรรทุกเช่นนี้ ก็เรียกได้ว่าเรือได้สูญเสียโดยสิ้นเชิงแล้ว
ข้อที่จะต้องเทียบเคียงจึงอยู่ที่ว่า “อันตรายทางทะเล” หรือ”ภยันตรายแห่งทะเล” กล่าวคือว่าสินค้าปูนซิเมนต์นั้นได้สูญเสียสิ้นเชิงไปโดยภยันตรายแห่งทะเลหรือไม่ มารีนอินชัวรันซ์แอคท์ ค.ศ. 1906 มาตรา 55 ก็เพียงแต่กล่าวว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นโดยใกล้ชิดกับอันตรายที่เอาประกันไว้ คำว่า Perilsof the sea ตามที่ศาลอังกฤษถือตามกันมาก็ถืออันตรายที่เกิดขึ้นโดยโชคกรรมจากทะเลหรือเนื่องจากทะเล
ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุที่เกิดเป็นเหตุเพราะความชำรุดทรุดโทรมธรรมดา บริษัทจำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์เอาความเสียหายหรือความวินาศของเรือกับความวินาศของปูนซิเมนต์ อันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปปะปนกัน ในเรื่องนี้วัตถุที่เอาประกันภัยคือปูนซิเมนต์อันเป็นสินค้าบรรทุก ก็จำจะต้องวินิจฉัยว่าความวินาศนั้นได้เกิดจากความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุของสินค้านั้นหรือไม่ จะไปยกเอาความไม่สมประกอบของเรือมาวินิจฉัยให้ไม่ต้องรับผิดในความวินาศของสินค้าบรรทุกนั้น หาได้ไม่
จึงพิพากษากลับ ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ