คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จดทะเบียนโอนโฉนดขายให้เพราะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่ายกให้โดยความจริงเป็นการยกให้ดังนี้ ต้องบังคับตามนิติกรรมอำพราง การยกให้ไม่เป็นโมฆะ ผู้โอนจะเรียกที่ดินคืนมิได้

ย่อยาว

สำนวนแรกนางทิพวรรณเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสวลีเป็นจำเลยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1809, 1810, 1811, 2027 ตำบลท้ายบ้านโฉนดที่ 2481, 514 ตำบลบางเมือง โฉนดที่ 1817 ตำบลบางพลี และโฉนดที่ 1676 ตำบลครองราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ. 2484โจทก์มีความจำเป็นบางประการต้องออกจากบ้านซึ่งอยู่ร่วมกับจำเลยผู้เป็นน้องร่วมบิดามารดา แต่โจทก์มีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโจทก์ไม่มีทรัพย์ติดตัวเมื่อออกจากบ้าน และเพื่อจะให้จำเลยดูแลจัดการประโยชน์และเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาลโดยสะดวก โจทก์จึงได้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินทั้ง 8 โฉนดให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2484 ในราคาโฉนดละ 100 บาท โดยจำเลยทราบดีว่าในใจจริงของโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามที่ได้ทำนิติกรรมนั้น และมิได้มีการชำระราคาเป็นสินจ้างตอบแทนทั้งได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า เมื่อหมดความจำเป็นแล้ว จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนให้โจทก์ตามเดิม จึงเป็นนิติกรรมที่ทำลวงขึ้นและเป็นโมฆะเพราะแท้จริงโจทก์มีเจตนาฝากทรัพย์แก่จำเลยให้จัดการดูแลและปกครองแทนชั่วคราวจนกว่าจะหมดสิ้นความจำเป็น เมื่อหมดสิ้นความจำเป็นใน พ.ศ. 2491 โจทก์ได้กลับมาอยู่บ้านตามเดิมและเข้าจัดการดูแลทรัพย์สมบัติดังกล่าวของโจทก์ โจทก์จึงขอให้จำเลยจัดการโอนแก้ทะเบียนที่ดินทั้ง 8 โฉนดคืนมาให้โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยไม่ยอมจึงขอให้พิพากษาว่า สัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 โฉนดเป็นโมฆะ ให้คู่กรณีกลับสู่สภาพเดิม โดยให้จำเลยโอนคืนแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์นำไปใช้ในการได้ที่ดิน 8 แปลงมาเป็นเงินของบิดาโจทก์จำเลย โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยโดยความเสน่หามิได้ทำนิติกรรมลวงฝากจำเลยไว้ จำเลยไม่ทราบความในใจของโจทก์ การที่จำเลยได้ให้โจทก์จัดการเก็บผลประโยชน์ในที่ดินบางส่วนชั่วคราว เพราะความเคารพรักกันฉันท์พี่น้องเนื่องจากโจทก์ขัดสน

สำนวนหลัง นางสาวสวลีเป็นโจทก์ฟ้องนางทิพวรรณเป็นจำเลยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ 1809, 1810, 1811, 2017 ตำบลท้ายบ้าน โฉนดที่ 514, 2281 ตำบลบางเมืองโฉนดที่ 1876(1676) ตำบลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเมื่อ 10 เดือนมานี้โจทก์ได้มอบให้จำเลยเก็บค่าเช่าที่ดินเฉพาะที่เก็บเป็นรายเดือน ตำบลท้ายบ้าน และตำบลบางเมือง ส่วนค่าเช่านาซึ่งเก็บเป็นรายปี โจทก์มิเคยอนุญาตให้จำเลยเก็บค่าเช่าครั้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2492 โจทก์ได้มอบให้ทนายความของโจทก์แจ้งแก่จำเลยมิให้เกี่ยวข้องในสถานที่ที่เช่าที่เป็นของโจทก์เป็นการถอนอำนาจจำเลยโดยสิ้นเชิง และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2492 โจทก์ได้มอบให้ทนายความของโจทก์แจ้งยืนยันมิให้จำเลยเกี่ยวข้องในสถานที่เช่าของโจทก์เป็นเด็ดขาด ครั้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2492 จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 จำเลยได้บังอาจเข้าไปในสถานที่เช่าของโจทก์ และได้เรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าสถานที่ของโจทก์หลายครั้ง เท่าที่โจทก์ทราบขณะนี้คือที่ตำบลบางเมืองตำบลท้ายบ้านเป็นเงิน 615 บาท โจทก์ได้ห้ามปรามและได้มอบให้ทนายความของโจทก์ทวงถามเงินจำนวนนี้แก่จำเลย จำเลยก็เพิกเฉยเสีย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2492 จนถึงวันฟ้อง จำเลยได้บังอาจเข้าไปในที่นาของโจทก์ ตำบลบางเมือง และตำบลบางพลี แสดงตนว่าเป็นเจ้าของ เรียกเก็บค่าเช่า ไม่ให้คนของโจทก์เข้าทำนา และเข้าเกี่ยวข้องจัดให้คนที่โจทก์ไม่พึงประสงค์ได้ประโยชน์ ในสถานที่นั้นละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้ตักเตือนแล้วจำเลยหาเชื่อฟังไม่จึงขอให้จำเลยใช้เงินโจทก์ 615 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีกับห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องในสถานที่ของโจทก์ต่อไป

นางทิพวรรณจำเลยให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์แม้จะได้มาจริงตามนิติกรรม จำเลยก็ได้มาจากโจทก์ซึ่งทำนิติกรรมโอนขายให้ แต่เป็นนิติกรรมอำพรางดังที่จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ไว้โจทก์ยังหาได้กรรมสิทธิ์อันแท้จริงไม่ เพียงแต่ได้รับผลจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเท่านั้น จำเลยมิได้รับมอบหมายอำนาจใด ๆ จากโจทก์ และมิจำเป็นต้องได้รับมอบอำนาจ เพราะจำเลยได้เป็นผู้ครอบครองดูแลเก็บผลประโยชน์ในทรัพย์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาในฟ้องเป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้วโจทก์เสียอีกเป็นผู้ดูแลแทนจำเลยในขณะที่จำเลยไม่อยู่ เมื่อจำเลยกลับมาจัดการทรัพย์ต่าง ๆ ของจำเลยโจทก์ก็ทราบและมิได้ทักท้วง ถือได้ว่ายินยอมโดยปริยาย จนจำเลยได้เก็บดอกผลเสร็จสิ้นไปหลายรายจะถือว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้แม้โจทก์จะได้มีหนังสือแจ้งมิให้จำเลยจัดการก็หาเกิดผลไม่ เพราะโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์โดยแท้จริงทรัพย์ทั้งหมดยังคงพิพาทกันอยู่ ชอบที่จะบังคับให้ส่งศาล มิใช่ส่งแก่โจทก์ จำเลยได้กระทำการโดยสุจริตโดยความเชื่อว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย โจทก์รู้ก็ไม่ทักท้วงจะถือว่าเป็นการละเมิดมิได้

คดี 2 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและพิพากษารวมกัน ต่อไปนี้จะเรียกว่านางทิพวรรณ โจทก์และนางสาวสวลี จำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่โอนขายที่ 8 โฉนดนั้น โจทก์จำเลยรู้ดีว่าไม่ใช่ความจริง หากมีนิติกรรมเรื่องฝากทรัพย์ซ่อนไว้ จึงพิพากษาในสำนวนแรกว่าสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับที่ 8/30, 5/24, 6/26, 9/32, 7/28, 8/82, 5/38, 4/36 ของโฉนดที่ 1809, 1810, 1811, 2027, 2481, 514, 1837 และ 1676 เป็นโมฆะ ให้คู่กรณีกลับสู่สภาพเดิมโดยให้นางสาวสวลี จำเลยโอนคืนให้แก่นางทิพวรรณโจทก์และให้นางสาวสวลี จำเลย เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 14,000 บาทแทนนางทิพวรรณ โจทก์ พิพากษาในสำนวนหลังยกฟ้องนางสาวสวลีจำเลยและให้นางสาวสวลี จำเลยเสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 300 บาท แทนนางทิพวรรณ โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามเหตุผลแห่งกรณีฟังไม่ได้ว่ามีการตกลงในการทำเจตนาลวง จึงขอให้ถือว่านิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ขายหรือโดยแท้จริงเป็นการยกให้เป็นโมฆะเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อสัญญาไม่เป็นโมฆะ นางทิพวรรณ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะคงยึดถือครอบครองโดยถือว่าตนเป็นเจ้าของต่อไป หากนางสาวสวลีจำเลยจะต้องอุปการะนางทิพวรรณโจทก์ประการใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่มีประเด็นในคดีนี้ที่นางสาวสวลีจำเลยฟ้องหาว่า นางทิพวรรณ โจทก์ยังขืนเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์รายพิพาทไปเป็นเงิน 615 บาทนั้น นางทิพวรรณโจทก์มิได้ให้การโต้แย้งจำนวนเงิน หากแต่ต่อสู้ว่าตนมีสิทธิเก็บผลประโยชน์ได้เท่านั้นเมื่อนางทิพวรรณ โจทก์ไม่มีสิทธิก็ต้องคืนเงินผลประโยชน์แก่นางสาวสวลีจำเลย จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องของนางทิพวรรณโจทก์ และให้นางทิพวรรณ โจทก์ คืนเงิน615 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสวลี จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียม 2 ศาลเป็นพับไป

นางทิพวรรณ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์คู่ความและปรึกษาคดีนี้ ทางพิจารณาได้ความว่า นางทิพวรรณโจทก์เป็นพี่สาว นางสาวสวลี จำเลย ร่วมบิดามารดาเดียวกัน นางทิพวรรณ โจทก์ได้เลี้ยงดูนางสาวสวลี จำเลยฉันท์มารดากับบุตร เพราะมารดาวายชนม์เสียตั้งแต่เยาว์ นางทิพวรรณโจทก์จึงรักใคร่นางสาวสวลีจำเลยมาก ต่อมานางทิพวรรณ โจทก์บังเกิดความรักใคร่นายชิดคนขับรถยนต์ของตนในทางชู้สาวคิดจะไปอยู่กับนายชิดต่างจังหวัดแต่เกรงว่านายชิดจะปอกลอกผลาญทรัพย์ของตน จึงคิดโอนทรัพย์ของตนให้แก่นางสาวสวลี จำเลย ๆ หารู้เท่าถึงความข้อนี้ไม่ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2484 นางทิพวรรณโจทก์จึงได้โอนโฉนดที่ดินตามฟ้องรวม 8 โฉนดให้แก่นางสาวสวลี จำเลยในทางยกให้ แต่การยกให้กันหอทะเบียนคิดค่าธรรมเนียมมากกว่าการขายนางทิพวรรณโจทก์จึงเปลี่ยนเป็นขายที่ดินให้แก่นางสาวสวลี จำเลยเป็นเงินโฉนดละ 100 บาทแต่หาได้ชำระราคากันไป แล้วนางทิพวรรณโจทก์ และนายชิดก็ไปอยู่ต่างจังหวัดและเกิดบุตรด้วยกัน ต่อมานายชิดถึงแก่กรรม นางทิพวรรณโจทก์ จึงพาบุตรมาอยู่ร่วมกับนางสาวสวลีจำเลยตามเดิมและยากจนลงนางสาวสวลีจำเลยก็ได้ให้นางทิพวรรณโจทก์เก็บประโยชน์ที่ดินบ้างบางแปลงสำหรับเป็นค่าใช้สอย ในที่สุดนางทิพวรรณ โจทก์ขอให้นางสาวสวลีจำเลยโอนที่ดินทั้งหมดกลับคืนมาเป็นของตนตามเดิม นางสาวสวลีจำเลยยอมโอนคืนให้บ้างบางแปลงเพราะที่ดินบางแปลงบิดาได้ลงทุนก่อสร้างเพิ่มเติมลงไป นางทิพวรรณโจทก์ไม่พอใจจึงฟ้องนางสาวสวลีจำเลย

นางทิพวรรณ โจทก์เบิกความว่า ได้ฝากที่ดิน 8 โฉนดไว้แก่นางสาวสวลีจำเลยต่อหน้าขุนจินดาบิดาและนางสาวพยอมน้องโจทก์คนทั้ง 2 นี้ก็ได้มาสาบานตัวเบิกความเป็นพยานนางสาวสวลีจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ฝาก นอกจากนี้โจทก์อ้างนางประพันธ์พยานมาสืบประกอบนางประพันธ์นี้เป็นพยานบอกเล่าจากนางทิพวรรณ โจทก์จึงไม่มีน้ำหนักนางทิพวรรณโจทก์อ้างว่าการที่ฝากที่ดิน 8 โฉนดไว้แก่นางสาวสวลีจำเลยนั้น เพราะเกรงนายชิดจะปอกลอกแต่ก็ไม่ได้ความว่านางทิพวรรณโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากับนายชิด ๆ จะปอกลอกได้อย่างไรนางทิพวรรณ โจทก์อ้างว่าเพื่อจะให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนไม่มีทรัพย์ติดตัวออกจากบ้าน และเพื่อจะให้นางสาวสวลี จำเลยดูแลจัดการประโยชน์และเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาลโดยสะดวกนั้นไม่สมเหตุผล เพราะนางทิพวรรณโจทก์ยังมีเครื่องเพชรเป็นราคาประมาณเรือนแสนบาท และเมื่อครั้งก่อนเกิดคดีนี้ นางทิพวรรณ ไปอยู่ปีนังร่วมปีก็ได้ให้นางประพันธ์ จัดการดูแลและเก็บผลประโยชน์ส่งไปให้ใช้สอยมิได้โอนฝากให้แก่ผู้ใด เมื่อนางทิพวรรณ โจทก์ไปอยู่กับนายชิดต่างจังหวัดแล้ว นาน ๆ ก็ได้กลับมาเยี่ยมบ้านอาจจัดการทรัพย์สมบัติของตนได้ ทั้งนางทิพวรรณ โจทก์มิได้ย้ายสำมะโนครัวไปด้วยเห็นว่านางทิพวรรณ โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่สามารถชนะคดีนางสาวสวลีจำเลยได้ ฝ่ายนางสาวสวลีจำเลยมีขุนจินดาบิดาและนางสาวพยอมน้องสาวคู่ความและพยานอื่นเบิกความประกอบคำนางสาวสวลีจำเลยฟังได้ว่านางทิพวรรณโจทก์ได้โอนที่ดิน 8 โฉนดตามฟ้องให้นางสาวสวลีจำเลยโดยเสน่หา มิใช่ฝากนางสาวสวลีจำเลยได้ดังฟ้องโจทก์ แต่ที่โอนทะเบียนเป็นประเภทขายก็เพราะเสียค่าธรรมเนียมหอทะเบียนถูกกว่าการโอนยกให้ รูปคดีเข้าลักษณะนิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสองซึ่งให้บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยนิติกรรมอำพราง การยกให้หาเป็นโมฆะไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นางทิพวรรณโจทก์แพ้คดีชอบแล้วฎีกานางทิพวรรณโจทก์ฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน ส่วนค่าทนายความชั้นฎีกาควรเป็นพับไป

Share