แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะสิ้นสุดลงได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือโดยโจทก์ทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป โจทก์มิได้ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 4 หรือจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 4 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารกับจำเลยที่ 1 โดยยอมให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างตกเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว ก็คงมีผลเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 จะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงงานจากจำเลยที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้มอบหมายหาได้ไม่ทั้งสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ย่อมมีผลผูกพันก่อให้เกิดบุคคลสิทธิหรือสิทธิเหนือบุคคลเฉพาะจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญา ดังนั้น หากจำเลยที่ 4ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิบังคับตามสัญญาได้เฉพาะแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น แต่จะให้มีผลกระทบกระทั่งแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่โจทก์
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ห้ามและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ารื้อถอนเอาทรัพย์สินของโจทก์กลับคืนเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงต้องคืนทรัพย์สินให้แก่โจทก์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ด้วยทั้งนี้ ตามมาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 427
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเพล็กซ์(DIC) ซึ่งจะทำการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมทาวเวอร์ สูง 32 ชั้น บนที่ดินโฉนดเลขที่ 4628 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอพเมนท์ จำกัด ก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ 1 ของอาคาร บริษัทอัลไลด์ฯ ได้ว่าจ้างช่วงจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการโดยจำเลยที่ 1 ยินยอม ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2538 จำเลยที่ 4 ได้ว่าจ้างโจทก์ทำงานระบบป้องกันดินพัง ขุดดิน สำหรับการก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินโดยโจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงานรับจ้างตามสัญญา ขอบเขตการทำงานคือ การตอกแผ่นเหล็กเข็มพืด (SHEETPILE)กันดินพังและเสาเหล็กชั่วคราวลงในดิน ค้ำยันแผ่นเหล็ก ขุดดิน ถมทราบก่อนถอนแผ่นเหล็ก การรื้อถอนค้ำยันและแผ่นเหล็กพร้อมทั้งขนย้ายออกจากหน่วยงาน ต่อจากนั้นโจทก์ก็เข้าดำเนินงานโดยได้จัดหาและนำวัสดุอุปกรณ์เข้าไปใช้ดำเนินงานในบริเวณสถานที่ก่อสร้างหลายรายการด้วยกันและได้รื้อถอนกลับคืนมาแล้วบางส่วน คงเหลือวัสดุอุปกรณ์อยู่ในโครงการก่อสร้าง คือ เหล็กบีมสำหรับค้ำยันและรองรับเครื่องจักรในระหว่างการทำงานขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร น้ำหนัก 320 ตันราคาตันละ 10,000 บาท เป็นเงิน 3,200,000 บาท แผ่นเหล็กปูพื้นขนาดกว้าง 1.50เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 6 แผ่น ราคาแผ่นละ 15,000 บาท เป็นเงิน 90,000 บาทแผ่นเหล็กสะพาน ขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 70 ชุด ราคาชุดละ26,000 บาท เป็นเงิน 1,820,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,110,000 บาท นอกจากนี้ยังมีวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์ได้เช่ามาจากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบด้วยแผ่นเหล็กเข็มพืดความยาว 14 เมตร จำนวน 184 แผ่น น้ำหนักแผ่นละ 840 กิโลกรัม และแผ่นเหล็กเข็มพืดความยาว 16 เมตร จำนวน 273 แผ่น น้ำหนักแผ่นละ 960 กิโลกรัมราคากิโลกรัมละ 14.50 บาท รวมเป็นราคาแผ่นเหล็กเข็มพืด 6,041,280 บาท ต้องชำระค่าเช่าวันละ 9,140 บาท รวมวัสดุอุปกรณ์ที่ยังอยู่ในหน่วยงานก่อสร้างในความควบคุมดูแลของจำเลยทั้งห้าคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 11,151,280 บาท ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2538 จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 5 ได้แจ้งให้โจทก์ไปรื้อถอนแผ่นเหล็กเข็มพืดเสาเหล็กค้ำยันและวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งหมดออกไปจากหน่วยงาน โจทก์ได้เข้าไปในหน่วยงานเพื่อรื้อถอนและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจไม่ยอมให้โจทก์รื้อถอนอ้างว่างานของจำเลยที่ 4 ยังมีข้อบกพร่องต้องให้จำเลยที่ 4 แก้ไขงานให้สมบูรณ์เสียก่อน จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน2538 จำเลยที่ 5 แจ้งต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ตกลงกันได้แล้วให้โจทก์ไปรื้อถอน เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ได้เข้าไปในหน่วยงานเพื่อรื้อถอนและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปและขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาบุกรุก โดยอ้างว่าวัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้วตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สมคบกันทำสัญญาตกลงให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งห้าให้ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าปฏิเสธ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เฉพาะส่วนทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์อาจนำออกให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 372,000 บาท ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2538 ถึงวันฟ้องขอคิด 15 เดือน เป็นเงิน 5,580,000 บาท ส่วนทรัพย์สินที่โจทก์เช่ามาจากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด โจทก์ต้องคืนให้แก่ผู้ให้เช่าโดยชดใช้ราคาไปและรับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของโจทก์ ทรัพย์สินส่วนนี้โจทก์อาจนำออกให้เช่าได้วันละ 9,140 บาท ขอคิดถึงวันฟ้อง 460 วัน เป็นเงิน 4,204,400 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันส่งมอบทรัพย์สินตามฟ้องคืนโจทก์ตามสภาพเดิมที่ใช้งานได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ราคาทรัพย์สินและค่าเสียหายรวม 20,935,680 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 372,000 บาท และวันละ 9,140 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างตามฟ้อง เดิมจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอพเมนท์จำกัด ก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ 1 โดยกำหนดให้งานแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ค่าจ้าง 26,000,000 บาท ต่อมาปรากฏว่าบริษัทอัลไลด์ฯดำเนินงานก่อสร้างล่าช้ามากไม่อาจเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาแก่บริษัทอัลไลด์ฯ และได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ทำงานที่เหลือ โดยมีข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างจะไม่นำงานทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปให้ผู้อื่นรับช่วงอีกทอดหนึ่ง โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างก่อน และหากเมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว บรรดางานที่ผู้รับจ้างทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำการจ้างนั้น ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆไม่ได้ กำหนดงานแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ค่าจ้าง 14,500,000 บาทจำเลยที่ 4 ทำงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2538 ได้งานเพียงร้อยละ 60 จำเลยที่ 1ขอให้จำเลยที่ 4 ทำงานต่อไปจนเสร็จ แต่ถึงกลางเดือนตุลาคม 2538 จำเลยที่ 4 ก็หยุดงาน และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2538 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 5ได้เข้าไปในบริเวณก่อสร้างเพื่อขนวัสดุ อุปกรณ์ สัมภาระและเครื่องมือก่อสร้าง จำเลยที่ 3 ไม่ยินยอม และจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 ในวันเดียวกัน ในระหว่างทำการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทอัลไลด์ฯ หรือจำเลยที่ 4 ว่าจ้างผู้อื่นให้ทำงานช่วงแต่อย่างใด สัญญาว่าจ้างช่วงระหว่างบริษัทอัลไลด์ฯ กับจำเลยที่ 4 หรือระหว่างจำเลยที่ 4 กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยเห็นหรือรับทราบจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 อาจทำขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ความจริงโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างหรือผู้ร่วมงานคนหนึ่งของจำเลยที่ 4 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของวัสดุอุปกรณ์ตามฟ้อง หากโจทก์เป็นผู้จัดหานำมาใช้ในการก่อสร้างก็ถือว่านำเข้ามาในนามของบริษัทอัลไลด์ฯ หรือของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ยอมรับว่า ขณะเลิกสัญญา จำเลยที่ 4 มีวัสดุอุปกรณ์ตามฟ้องบางส่วนอยู่ในบริเวณที่ก่อสร้าง คือ เหล็กบีมสำหรับค้ำยันและรองรับเครื่องจักรขนาดกว้าง 30เซนติเมตรเสาคิงโพสจำนวน 44 ต้น น้ำหนัก 32 ตัน ซึ่งตอกฝังอยู่ใต้ดินบริเวณก่อสร้างอาคารไม่อาจถอนขึ้นมาได้ คานพื้นจำนวน 129 แท่ง แผ่นเหล็กปูพื้นขนาดกว้าง 1.50เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 2 แผ่น แผ่นเหล็กสะพานขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 6 เมตรจำนวน 66 ชุด แผ่นเหล็กเข็มพืดความยาว 14 เมตร จำนวน 184 แผ่น และแผ่นเหล็กเข็มพืดความยาว 16 เมตร จำนวน 273 แผ่น ซึ่งตอกฝังอยู่ใต้ดินรอบบริเวณก่อสร้างเพื่อป้องกันดินพังและการเคลื่อนตัวลึกถึง 14 เมตร หากรื้อถอนจะส่งผลกระทบต่ออาคารข้างเคียง ทำให้เกิดเสียหายแตกร้าว จึงไม่อาจถอนออกได้ รวมราคาวัสดุอุปกรณ์เหล็กที่อยู่ในบริเวณก่อสร้างคิดเป็นเงิน 2,333,000 บาท
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ฯก่อสร้างอาคารตามฟ้อง ต่อมาบริษัทอัลไลด์ฯ ได้มาว่าจ้างจำเลยที่ 4 ก่อสร้างเฉพาะพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ 1 ในราคา 23,800,000 บาท และจำเลยที่ 4 ก็ได้ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำระบบป้องกันดินพัง โจทก์ได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้มาในสถานที่ก่อสร้างโดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 1 และบริษัทอัลไลด์ฯ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทกับบริษัทอัลไลด์ฯ จึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาว่าจ้างจำเลยที่ 4 ทำการก่อสร้างต่อไปจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทกับจำเลยที่ 4 จึงเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีเหตุตามสัญญาหรือตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่เคยตกลงให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องตกไปเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้จำเลยที่ 4 และโจทก์ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ออกจากสถานที่ก่อสร้าง จำเลยที่ 4 เคยบอกให้โจทก์นำทรัพย์สินของโจทก์กลับคืนไปก่อนหน้านี้แล้วแต่โจทก์ไม่ดำเนินการ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้แก่โจทก์โดยอ้างข้อตกลงตามสัญญา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาแผ่นเหล็กเข็มพืดจำนวน457 แผ่น เป็นเงิน 3,333,120 บาท และใช้ราคาเสาเหล็กน้ำหนัก 32 ตัน เป็นเงิน256,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,589,120 บาท ให้จำเลยที่ 1 คืนแผ่นเหล็กสะพานขนาดกว้าง 1.28 เมตร ยาว 7 เมตร จำนวน 73 แผ่น น้ำหนัก 85 ตัน คานเหล็กและเสาเหล็กขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และหนา 15 มิลลิเมตร รวมน้ำหนัก 73.96 ตัน และแผ่นเหล็กปูพื้นจำนวน 3 แผ่น หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนในราคากิโลกรัมละ 8 บาท หรือตันละ 8,000 บาท ส่วนแผ่นเหล็กปูพื้นให้ใช้ราคาแผ่นละ8,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากแผ่นเหล็กเข็มพืดเดือนละ 20,000บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2538 จนกว่าจะใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลคอมเพล็กซ์ ซึ่งจะก่อสร้างอาคารสูง 32 ชั้น เพื่อทำเป็นอาคารชุด เมื่อเริ่มโครงการจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอพเมนท์ จำกัดก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ 1 แต่บริษัทอัลไลด์ฯ ก่อสร้างล่าช้า จำเลยที่ 1จึงบอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 4ให้เข้าก่อสร้างต่อจากบริษัทอัลไลด์ฯ โดยจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 4 ทำงานต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ก็บอกเลิกสัญญาอีกเพราะจำเลยที่ 4 ก่อสร้างล่าช้าสำหรับงานระบบป้องกันดินพัง ระบบค้ำยัน การขุดและถมดินในบริเวณโครงการของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้วมีแผ่นเหล็กเข็มพืดและคานเหล็กบางส่วนฝังอยู่รอบ ๆ พื้นที่โครงการทั้งมีเสาเหล็กคานเหล็ก และแผ่นเหล็กกองอยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างคดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยคดีสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะโจทก์มิได้ฎีกาขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับผิด
ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า ทรัพย์สินที่โจทก์นำเข้าไปใช้ในโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เป็นของโจทก์มีเหล็กบีมหรือเหล็กรูปพรรณขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร น้ำหนักรวม 320 ตัน แผ่นเหล็กปูพื้นขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 6 เมตร หนา 1 นิ้ว 6 แผ่น น้ำหนักรวม 12 ตัน และแผ่นเหล็กสะพานขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 6 เมตร รวม 70 ชุด นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินที่โจทก์เช่ามาจากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด คือ แผ่นเหล็กเข็มพืดขนาดยาว 14เมตร 184 แผ่น แผ่นเหล็กเข็มพืดขนาดยาว 16 เมตร 273 แผ่น ตามสำเนาสัญญาเช่าเหล็กชีทไพล์ ลงวันที่ 7 มกราคม 2538 เอกสารหมาย จ.9 ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดข้อพิพาทกับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้ซื้อแผ่นเหล็กเข็มพืดรวม 375 แผ่น จากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด เป็นเงิน 5,000,000 บาท ตามสำเนาบันทึกการรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์มิใช่เจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบให้รับฟังได้ดังที่อ้าง ทั้งจำเลยที่ 5 ยังเบิกความรับกันกับคำเบิกความของโจทก์ด้วยว่า จำเลยที่ 4 ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการทำระบบป้องกันดินพัง ตามสัญญาว่าจ้างระบบป้องกันดิน ขุดดิน โครงการเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเพล็กซ์ เอกสารหมาย จ.5 และโจทก์ได้นำแผ่นเหล็กเข็มพืด ฯลฯ เข้าไปในโครงการด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 อ้างว่า ตามสัญญาจ้างงานรับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมทาวเวอร์ โครงการเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเพล็กซ์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 19 กำหนดว่า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว บรรดางานที่จำเลยที่ 4 ได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างโดยเฉพาะเพื่องานจ้าง จำเลยที่ 4 ยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4 จะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ และตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 12 กำหนดว่า จำเลยที่ 4 สัญญาว่าจะไม่เอางานทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปให้ผู้อื่นรับจ้างช่วงอีกทอดหนึ่งโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 1 ก่อน โจทก์เข้ารับจ้างช่วงจากจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 มิได้อนุญาตเป็นหนังสือ จึงอยู่ในฐานะบริวารหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ต้องผูกพันทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามฟ้องย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามฟ้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะสิ้นสุดลงได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือโดยโจทก์ทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป แต่โจทก์มิได้ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 4หรือจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 4 จะทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ยอมให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างโดยเฉพาะเพื่องานจ้างตกเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4แล้วก็ตาม ก็คงมีผลเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเท่านั้น จำเลยที่ 4 จะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้มอบหมายหาได้ไม่ ทั้งสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.4 ย่อมมีผลผูกพันในระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และก่อให้เกิดบุคคลสิทธิหรือสิทธิเหนือบุคคลเฉพาะจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญา มิได้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วย ดังนั้น หากจำเลยที่ 4 ผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิบังคับตามสัญญาได้เฉพาะแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น แต่จะให้มีผลกระทบกระทั่งแก่สิทธิของโจทก์ไม่ได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตามฟ้องคืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องนั้นให้แก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปเป็นปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในการคืนทรัพย์สินตามฟ้องหรือใช้ราคาและค่าเสียหายด้วยหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำสืบรับกันฟังได้ว่าเมื่อโจทก์จะเข้าไปรื้อถอนทรัพย์สินตามฟ้องออกจากสถานที่ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ห้ามและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ารื้อถอนโดยอ้างสิทธิตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 เอกสารหมาย จ.4 อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในการใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167ประกอบด้วยมาตรา 427 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คิดเป็นเงิน 4,884,800 บาท กับค่าเสียหาย 5,200,000 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์