แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ใบเบิกปลอมเป็นหลักฐานในการลงบัญชีจ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงทำให้สายสูบน้ำดับเพลิงของกรมตำรวจโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไป เป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ละเมิด และมูลหนี้ละเมิดนั้นเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ใบเบิกเป็นเพียงเอกสารราชการ มิใช่เอกสารสิทธิโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบ มาตรา 265 คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญาเพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(3) มิใช่ 20 ปี จึงไม่เป็นกรณีที่กำหนดอายุความอาญายาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง
เหตุละเมิดเกิดจากสายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายไปหากไม่สูญหายย่อมไม่มีเหตุละเมิดต่อโจทก์ที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องร้อง ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมหมายถึงวันที่ทรัพย์สูญหาย มิใช่วันที่มีการทำใบเบิกปลอมหรือวันที่ตรวจพบว่ามีการสูญหาย เพราะอาจมีการสูญหายก่อนหน้านั้นนานเพียงใดก็ได้
การที่สายสูบน้ำดับเพลิง 736 เส้น ของกรมตำรวจโจทก์ไปอยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงต่าง ๆ ต้องถือว่าสายสูบน้ำดับเพลิงจำนวนนี้มิได้สูญหาย เนื่องจากสถานีตำรวจดับเพลิงเหล่านั้นคือหน่วยงานในสังกัดของโจทก์เท่ากับว่าสายสูบน้ำดับเพลิงยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์นั่นเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า กองบังคับการตำรวจดับเพลิงเป็นส่วนราชการของโจทก์ เป็นหน่วยงานระดับกองซึ่งมีพัสดุไว้จ่าย มีผู้บังคับการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เป็นข้าราชการตำรวจสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ มีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบในการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ เก็บรักษาพัสดุให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามบัญชีหรือทะเบียน รวมทั้งเบิกจ่ายพัสดุตามใบเบิกแล้วลงบัญชีหรือทะเบียนทุกครั้งที่มีการจ่ายและเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ระหว่างวันที่ 25พฤศจิกายน 2520 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 1กองบังคับการตำรวจดับเพลิงติดต่อกัน เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ระหว่างปี 2519 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจดับเพลิงติดต่อกัน มีฐานะเป็นหัวหน้าหน่วยงานซึ่งมีพัสดุไว้จ่าย จึงมีหน้าที่ตรวจสอบการรับจ่ายและตรวจนับพัสดุคงเหลือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่29 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ (1) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2525 โจทก์ซื้อสายสูบน้ำดับเพลิงยี่ห้อเจท สีแดง 1,000 เส้น ซึ่งได้รับมอบสิ่งของจากผู้ขายและส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่บันทึกการรับในบัญชีคุมสิ่งของหลวงตามหน้าที่เป็นเหตุให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไป 1,000 เส้น ราคาเส้นละ2,160 บาท เป็นเงินค่าเสียหาย 2,160,000 บาท (2) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันควบคุมและลงบัญชีรับ-จ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงบัญชีคุมสิ่งของหลวง ย.48 ก.2 เล่ม 2 โดยได้ลงรายการในบัญชีในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2526 ว่ามีสายสูบน้ำดับเพลิงคงเหลือ 1,789 เส้นซึ่งยกยอดไป พ.ศ. 2527 แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันลงบัญชีสายสูบน้ำดับเพลิงในบัญชีคุมสิ่งของหลวง ย.48 ก.2 เล่ม 4 ว่า พ.ศ. 2527 ยอดยกมาจาก ก.2 เล่ม 2 เพียง1,039 เส้น ทำให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไป 750 เส้น ราคาเส้นละ 2,068 บาท เป็นเงิน 1,551,000 บาท (3) เมื่อระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน2527 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันใช้เอกสารปลอมเป็นหลักฐานในการลงบัญชีจ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงในบัญชีคุมสิ่งของหลวงรวม 7 ครั้ง ทำให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไป 186 เส้น ราคาเส้นละ 1,974 บาทเป็นเงิน 367,164 บาท (4) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันใช้ใบเบิกที่ 30/2527 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2527 ซึ่งแผนกช่างเครื่องดับเพลิงขอเบิกสายสูบลมยาง 1 เส้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงบัญชีจ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไป 1 เส้น เป็นเงิน 1,974 บาท (5) ตามบัญชีคุมสิ่งของหลวง ย. 48 ก.2 เล่ม 4 ในวันที่ 29 เมษายน 2529 มีสายสูบน้ำดับเพลิงคงเหลือ 55 เส้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีของให้ตรวจนับ สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์จึงสูญหายไป 55 เส้น ราคาเส้นละ 1,974 บาท เป็นเงิน 108,570 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายไปทั้งสิ้น 1,992 เส้นเป็นเงินค่าเสียหาย 4,188,708 บาท จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมและไม่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้รัดกุมเป็นเหตุให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไปตามข้อ (1)(2)(4) และ (5) รวม 1,806 เส้น เป็นเงิน 3,821,544 บาท จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการรับ-จ่ายพัสดุและตรวจสอบพัสดุคงเหลือว่ามีอยู่ตรงตามบัญชีหรือไม่เป็นประจำทุกปีงบประมาณแต่ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองบังคับการตำรวจดับเพลิงสูญหายและขาดบัญชีไปตามข้อ (1)(2)(4) และ (5) รวม 1,806 เส้น เป็นเงิน3,821,544 บาท จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามข้อ (1)(2)(4) และ (5) เมื่อวันที่ 30มกราคม 2538 และ ข้อ (3) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 4,188,708 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ร่วมรับผิดไม่เกิน3,821,544 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อสายสูบน้ำดับเพลิงตามฟ้องและไม่มีหน้าที่บันทึกการรับในบัญชีคุมสิ่งของหลวง ไม่เคยร่วมในการควบคุม และทำบัญชีรับ-จ่ายสายสูบน้ำดับเพลิง ไม่เคยร่วมใช้เอกสารปลอม สายสูบน้ำดับเพลิง1,000 เส้น ตามฟ้องข้อ (1) ไม่ได้สูญหาย โจทก์ได้ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 25 สิงหาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นอกจากนี้เหตุละเมิดตามฟ้องเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมนั้น ความจริงเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ไปตามคำสั่งอย่างถูกต้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินอายุความตามที่กฎหมายกำหนด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เหตุละเมิดตามฟ้องโจทก์ข้อ (1)(4) และ (5) เกิดเมื่อจำเลยที่ 4 ได้พ้นจากตำแหน่งผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิงแล้ว ส่วนเหตุละเมิดตามฟ้องโจทก์ข้อ (2) โจทก์มิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าเกิดในขณะที่จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิงหรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะเอาผิดจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุไม่มีหน้าที่ในการตรวจนับพัสดุคงเหลือ จึงไม่ต้องรับผิดในจำนวนพัสดุที่ขาดบัญชี โจทก์ไม่ได้คิดหักค่าเสื่อมราคาในสายสูบน้ำดับเพลิง และโจทก์รู้ถึงความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 แต่ได้ปล่อยปละละเลยมิได้ฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้ตัวผู้กระทำผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า เหตุละเมิดตามฟ้องได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมายจำเลยที่ 5 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในเหตุละเมิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า นับแต่วันทำละเมิดตามฟ้องจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีและโจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดก่อนฟ้องเกินกว่า 1 ปี แล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความจำเลยที่ 6 มิได้ร่วมด้วยในการทำละเมิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจดับเพลิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ก่อนมีการละเมิดตามฟ้องข้อ (1)(2)(4) และ (5) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่จำเลยที่ 7 พ้นจากตำแหน่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เรียกให้จำเลยที่ 7 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์มิได้สูญหายแต่กระจายอยู่ตามสถานีดับเพลิงของโจทก์ มูลละเมิดตามฟ้องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539 เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การว่า โจทก์อ้างว่าทราบเหตุละเมิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องศาลเพราะทรัพย์สินตามฟ้องโจทก์สูญหายเกินกว่า10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ไม่เคยประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 2,598,948 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่ากองบังคับการตำรวจดับเพลิงเป็นหน่วยงานของโจทก์ซึ่งมีพัสดุไว้จ่าย มีผู้บังคับการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน จำเลยที 1 ถึงที่ 3 เป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบในการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ เก็บรักษาพัสดุให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามบัญชีหรือทะเบียน เบิกจ่ายพัสดุตามใบเบิกแล้วลงบัญชีหรือทะเบียนไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายและเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ระหว่างเวลาเกิดเหตุในช่วงระยะเวลาตามคำสั่งของโจทก์ เอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.21 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 7ถึงที่ 9 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ระหว่างเวลาเกิดเหตุในช่วงระยะเวลาตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งกรมตำรวจ เอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 มีฐานะเป็นหัวหน้าหน่วยงานซึ่งมีพัสดุไว้จ่าย ทำหน้าที่ตรวจสอบการรับจ่ายและตรวจนับพัสดุคงเหลือให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2529 จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไปตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง แต่สำหรับสายสูบน้ำดับเพลิงยี่ห้อเจท สีแดง 1,000 เส้น ที่โจทก์ซื้อเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2525 และส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว ตามรายงานการตรวจรับเอกสารหมาย จ.4 โดยไม่มีการลงรายการรับในบัญชีคุมสิ่งของหลวง เอกสารหมาย จ.5 นั้นปรากฏว่ามีการตรวจพบสายสูบน้ำดับเพลิงจำนวนนี้บางส่วนอยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงต่าง ๆ 736 เส้น คงสูญหายไป 264 เส้น
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 9 ขาดอายุความแล้วหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่จำต้องกล่าวในคำฟ้องว่าเป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้เอกสารปลอมอันเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 แล้ว ซึ่งมีอายุความ 20 ปี นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้เอกสารใบเบิกปลอมเป็นหลักฐานในการลงบัญชีจ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงทำให้สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายและขาดบัญชีไปฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ละเมิด และมูลหนี้ละเมิดนั้นเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แต่อย่างไรก็ตามสำหรับความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 นั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและตามที่โจทก์นำสืบคงได้ความว่า ใบเบิกปลอมที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในการลงบัญชีจ่ายสายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์เป็นเพียงเอกสารราชการมิใช่เอกสารสิทธิ โทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000บาท ถึง 10,000 บาท ซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญาเพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) มิใช่ 20 ปี ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา และไม่เป็นกรณีที่กำหนดอายุความอาญายาวกว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคสอง และตามฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 คนใดเป็นความผิดทางอาญาฐานอื่นอีก จึงไม่มีประเด็นให้ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยถึงที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 ให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ในประเด็นเรื่องอายุความนี้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความแล้วปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539 แต่การทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 5 มกราคม2529 เฉพาะรายการที่ (3) ครั้งที่ 6 และ 7 และรายการที่ (5) ตามคำฟ้องเท่านั้น รายการอื่น ๆ นอกจากนี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 มกราคม 2529 ทั้งสิ้น สำหรับรายการที่เกิดเหตุก่อนวันที่ 5 มกราคม 2529 นี้ โจทก์จึงฟ้องเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด และขาดอายุความแล้วส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 5 มกราคม 2529 คือ รายการที่ (3) ครั้งที่ 6 ได้แก่ ใบเบิกปลอมลงวันที่ 29 มกราคม 2529 แสดงว่าสถานีดับเพลิงพระโขนงเบิกสายสูบน้ำดับเพลิง 30 เส้น ครั้งที่ 7 ได้แก่ ใบเบิกปลอมลงวันที่ 21 มีนาคม 2529 แสดงว่าสถานีดับเพลิงคลองเตยเบิกสายสูบน้ำดับเพลิง 31 เส้น และรายการที่ (5) ตามบัญชีคุมสิ่งของหลวง ย.48 ก.2 เล่ม 4 แสดงว่าในวันที่ 29เมษายน 2529 มีสายสูบน้ำดับเพลิงคงเหลือ 55 เส้น แต่ไม่มีของให้ตรวจนับ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุละเมิดตามที่โจทก์ฟ้องเกิดจากการที่สายสูบน้ำดับเพลิงของโจทก์สูญหายไปหากสายสูบน้ำดับเพลิงไม่สูญหายย่อมไม่มีเหตุละเมิดต่อโจทก์ที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องร้อง ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมหมายถึงวันที่ทรัพย์ดังกล่าวสูญหายมิใช่วันที่มีการทำใบเบิกปลอมหรือวันที่ตรวจพบว่ามีการสูญหาย เพราะอาจมีการสูญหายก่อนหน้านั้นนานเพียงใดก็ได้ แต่พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดไม่ปรากฏเลยว่าสายสูบน้ำดับเพลิงสำหรับ 3 รายการดังกล่าวสูญหายไปเมื่อใด หรือประมาณวันเดือนปีใดที่ไม่ก่อนวันที่ 5 มกราคม 2529 ดังนี้ แสดงว่าโจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าคดีไม่ขาดอายุความและต้องฟังว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดทั้งหมด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 จึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 จะอายุความ 10 ปี ขึ้นต่อสู้นั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ซื้อสายสูบน้ำดับเพลิง 1,000 เส้น แต่เจ้าหน้าที่พัสดุไม่ได้ลงรายการรับในบัญชีคุมสิ่งของหลวงเอกสารหมาย จ.5 ทำให้สายสูบน้ำดับเพลิง 1,000 เส้น ดังกล่าวสูญหายและขาดบัญชีไป การตรวจพบสายสูบน้ำดับเพลิง736 เส้นอยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงต่าง ๆ เป็นการตรวจพบทรัพย์สินบางส่วนที่สูญหายไปอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น มิได้หมายความว่าทรัพย์ได้สูญหายนั้น เห็นว่า การที่สายสูบน้ำดับเพลิง 736 เส้นของโจทก์ไปอยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงต่าง ๆ ย่อมต้องถือว่าสายสูบน้ำดับเพลิงจำนวนนี้มิได้สูญหาย เนื่องจากสถานีตำรวจดับเพลิงเหล่านั้นคือ หน่วยงานในสังกัดของโจทก์ทั้งสิ้น เมื่อสายสูบน้ำดับเพลิงจำนวนนี้อยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงก็เท่ากับว่ายังอยู่ในความครอบครองของโจทก์นั่นเอง ไม่อาจถือว่าสูญหายไปตามที่โจทก์ฎีกาต้องถือว่าสูญหายไปเพียง 264 เส้น ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ”