แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ใบคำขอเอาประกันชีวิต พ. แจ้งว่าไม่เคยรับการตรวจสุขภาพหรือการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ไม่เคยเป็นหรือรับการรักษาโรคเกี่ยวกับตาหูคอจมูกไม่เคยเป็นโรคหืดหอบหรือโรคเกี่ยวกับปอดหรือระบบหายใจเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 19 กันยายน 2538 พ. เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เพราะพยายามฆ่าตัวตาย วันที่ 27 สิงหาคม 2539 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยโรคไซนัสอักเสบติดเชื้อ เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นมาเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งด้วยอาการหลอดลมอักเสบ กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้เดือนธันวาคม 2539 แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น พ. จึงแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงต่อจำเลย ซึ่งถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญ สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง
เป็นหน้าที่โดยตรงที่ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งข้อเท็จจริงตามที่ผู้รับประกันภัยจำเลยต้องการทราบและกำหนดไว้ การให้แพทย์ตรวจผู้เอาประกันภัยหรือไม่เป็นดุลพินิจของผู้รับประกันภัยเมื่อผู้เอาประกันภัยปกปิดความจริง แถลงข้อความเป็นเท็จเสียแล้วโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่ได้ให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้เอาประกันภัยถือว่าประมาทและไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของนายพิเชษฐ ผ่องหิรัญ และเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 นายพิเชษฐได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยแบบประกันภัยประเภทคุ้มครองธุรกิจชำระ 20 ปี มีเงินปันผลจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 บาท ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2540 นายพิเชษฐถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเป็นลม โจทก์ได้ติดต่อขอรับค่าสินไหมทดแทน จำเลยปฏิเสธไม่ชำระเงินตามสัญญาและแจ้งบอกล้างกรมธรรม์ดังกล่าว อ้างว่านายพิเชษฐมิได้แถลงให้จำเลยทราบว่านายพิเชษฐมีสุขภาพไม่สมบูรณ์และมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนเป็นเหตุให้จำเลยสำคัญผิดยินยอมออกกรมธรรม์ กรมธรรม์ดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0552789 เป็นเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่นายพิเชษฐชำระ 26,081 บาท คืนแก่โจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่นายพิเชษฐถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 727,760.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในการทำสัญญาประกันชีวิตนั้นนายพิเชษฐได้แถลงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับสุขภาพว่านายพิเชษฐมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เคยมีปัญหาการเจ็บป่วยและไม่เคยได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ จำเลยจึงตกลงรับประกันภัย เมื่อนายพิเชษฐถึงแก่ความตาย จำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงทราบว่าก่อนเอาประกันชีวิตนายพิเชษฐเคยป่วยด้วยโรคร้ายแรง มีประวัติการพยายามฆ่าตัวตายโดยกินยานอนหลับยาฆ่าแมลงต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่งก่อนทำสัญญาโดยที่นายพิเชษฐทราบถึงสุขภาพและเหตุเจ็บป่วยของตน แต่เจตนาไม่เปิดเผยความจริงแก่จำเลย ทั้งเป็นการแจ้งเท็จแก่จำเลยซึ่งหากจำเลยได้ทราบความจริงแต่แรกแล้วก็จะบอกปัดไม่ทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้ จำเลยจึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันภัยโดยมีหนังสือบอกล้างสัญญาไปยังโจทก์พร้อมคืนเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวันที่ 4 พฤศจิกายน2539 นายพิเชษฐทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ตามใบคำขอเอาประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.1 และกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 วันที่ 3 มกราคม 2540 นายพิเชษฐถึงแก่ความตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะที่จำเลยจะบอกล้างได้หรือไม่เห็นว่า ใบคำขอเอาประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 10 นายพิเชษฐแจ้งว่าในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยรับการตรวจสุขภาพหรือการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล และข้อ 12 นายพิเชษฐแจ้งว่าไม่เคยเป็นหรือรับการรักษาโรคเกี่ยวกับตาหูคอจมูก ไม่เคยเป็นโรคหืดหอบหรือโรคเกี่ยวกับปอดหรือระบบหายใจ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายพิเชษฐเคยเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง ๆหลายแห่ง คือเมื่อวันที่ 19 กันยายน2538 เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปากช่องนานา เพราะพยายามฆ่าตัวตายโดยกินยานอนหลับ ฮอร์โมนพืช และดื่มสุรา วันที่ 27 สิงหาคม 2539 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอ่างทอง โรคไซนัสอักเสบติดเชื้อ เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นมาเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลป่าโมกหลายครั้งด้วยอาการป่วยหลายอย่าง คือหลอดลมอักเสบกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ ครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2539 แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น นายพิเชษฐจึงแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงต่อจำเลย ซึ่งถือว่าเป็นการแจ้งเท็จหรือปกปิดความจริงในข้อสาระสำคัญเพราะถ้าจำเลยทราบจำเลยอาจให้แพทย์ตรวจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า นายพิเชษฐเพียงแต่ลงลายมือชื่อในใบคำขอประกันชีวิต ไม่ได้เป็นผู้ตอบหรือแถลงข้อความ แต่บุคคลอื่นทำ โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าบุคคลอื่นนั้นเป็นใคร ไม่ได้นำสืบว่านายพิเชษฐไม่ได้มอบหมายหรือไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นให้ตอบหรือแถลงเช่นนั้น โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า จำเลยไม่ได้ให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้เอาประกันภัย ถือว่าประมาทและไม่ทำให้สัญญาเป็นโมฆียะนั้น เห็นว่า เป็นหน้าที่โดยตรงที่ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งข้อเท็จจริงตามที่จำเลยต้องการทราบและกำหนดไว้ การให้แพทย์ตรวจผู้เอาประกันภัยหรือไม่ แล้วแต่ดุลพินิจผู้รับประกันภัย เมื่อนายพิเชษฐผู้เอาประกันภัยปกปิดความจริงแถลงข้อความเป็นเท็จเสียแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเช่นนั้นได้ ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน