กรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ก่อนมีการแก้ไข ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด (ฎีกาที่ 5281/2562)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2562
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
แม้ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.7 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สัญญาเช่าซื้อ ตามเอกสารหมาย จ.11 โดยมีความตกลงเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้อกันใหม่ จากเดิมที่กำหนดชำระค่าเช่าซื้อกันไว้ 72 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 ธันวาคม 2556 เป็นกำหนดชำระค่าเช่าซื้อรวม 84 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ซึ่งความตกลงดังกล่าวเป็นผลให้ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวออกไปกว่าที่กำหนดไว้เดิม อันมีลักษณะของการผัดผ่อนที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 3 มีข้อตกลงระหว่างกันว่า “หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ หรือตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อในประการใดๆ ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยทุกครั้ง” แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติเกี่ยวด้วยการหลุดพ้นจากความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ในหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็หาได้หลุดพ้นความรับผิดไม่ ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้” อันเป็นบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 หยิบยกขึ้นปรับใช้แก่คดี แล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 3 ที่ทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลา มีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาใช้บังคับมิได้นั้น เมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มาตรา 18 บัญญัติว่า “บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” และตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้มีกรณีที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเพื่อให้บทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นปรับใช้แก่สัญญาค้ำประกันคดีนี้ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับจึงไม่ถูกต้อง การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.11 จึงมิได้ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยังต้องผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยังต้องผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคยังมิได้วินิจฉัย แต่โจทก์ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปฝ่ายเดียวจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียเลย โดยไม่ย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยก่อน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.11 ตั้งแต่งวดที่ 4 ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2559 เป็นระยะเวลาสามงวดติดต่อกัน ภายหลังจากนั้นโจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 โดยชอบ ตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.15 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด ผลของการบอกกล่าวเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาเช่นนั้น ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ตามที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นเสียจากความรับผิดที่ต้องร่วมรับผิดชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 1,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคา จำเลยที่ 2 คงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เฉพาะหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน เป็นเงิน 550,450 บาท กับร่วมรับผิดในหนี้ค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 1,600 บาท เป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เป็นเงิน 3,200 บาท เท่านั้น