แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขายสินค้าน้ำมะพร้าวให้แก่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีก การขายสินค้าน้ำผลไม้ของโจทก์จึงเป็นการขายส่ง ดังนั้นสินค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
สินค้าของโจทก์เป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แต่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดและต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิตก่อน การที่ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2538 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้ถือว่ามีผลตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุมัติยกเว้นภาษี และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อ 3 เป็นต้นไป เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มมีผลตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มที่โจทก์นำออกจากโรงอุตสาหกรรมก่อนวันดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรโดยผลิตน้ำผลไม้ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าว่า “ตราสมุย” ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อขายปลีกภายในครอบครัวและไม่เข้าข่ายเป็นโรงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ไปตรวจสอบสินค้าของโจทก์และแจ้งว่าสินค้าของโจทก์ยังไม่ได้ขอยกเว้นภาษี ให้โจทก์ไปเสียค่าปรับและขอยกเว้นภาษี โจทก์ได้ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิต เงินเพิ่ม และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย รวมจำนวน 682,549.42 บาท อ้างว่าโจทก์ต้องรับผิดในการเสียภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 79(1)โจทก์ได้คัดค้านการประเมินว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจประเมินภาษี กรณีของโจทก์จะนำมาตรา 79(1) มาใช้บังคับไม่ได้เนื่องจากสินค้าของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเพราะมีส่วนผสมของน้ำผลไม้ตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 02.03 จำเลยที่ 1 ได้วินิจฉัยคำคัดค้านว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายก่อนได้รับการยกเว้นภาษี โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โดยอ้างว่าสิทธิการได้รับการยกเว้นภาษีของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ขออนุมัติยกเว้นภาษีต่อจำเลยที่ 1 แต่ได้งดเงินเพิ่มให้โจทก์ คงให้รับผิดในการชำระภาษี จำนวน 478,584.28 บาท การประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ ดังเหตุผลที่โจทก์กล่าวมาข้างต้น ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยจำนวน 478,584.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่โจทก์ได้วางเงินประกันตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้และน้ำพืชผักตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 เป็นต้นมา โดยมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และมิได้ชำระภาษีสำหรับสินค้าที่โจทก์นำออกจากโรงอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ก่อนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 คิดเป็นเงินภาษีสรรพสามิต เงินเพิ่ม(คำนวณถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2543) และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย รวมจำนวน 682,549.42 บาท โจทก์ได้คัดค้านการประเมินและต่อมาอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้งดเงินเพิ่ม และให้โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยจำนวน 478,584.28 บาท ที่โจทก์อ้างว่าสินค้าของโจทก์อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 02.03 จึงได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตนั้น ในเรื่องนี้ได้มีประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำมันพืชผักที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 27 มีนาคม2538 กำหนดให้การอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตมีผลตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุมัติและเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง โจทก์ขอยกเว้นภาษีและจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้ยกเว้นภาษีโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม2541 สินค้าของโจทก์ที่ผลิตและจำหน่ายก่อนวันที่ 18 สิงหาคม 2541 จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ประกอบกิจการเป็นโรงอุตสาหกรรมเพียงแต่ทำน้ำผลไม้ขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หน้าบ้านนั้น กรณีของโจทก์ดังกล่าวถือว่าสถานที่ผลิตสินค้าเครื่องดื่มเป็นโรงอุตสาหกรรมตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แล้ว และแม้ว่านิยาม “เครื่องดื่ม” ในตอนที่ 2 ของพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตจะกำหนดมิให้รวมถึงเครื่องดื่มซึ่งผู้ผลิตได้ผลิตขึ้นเพื่อขายปลีกเองโดยเฉพาะก็ตามแต่โจทก์ได้ขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าและร้านขายของเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นการขายปลีก โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำผลไม้ เช่น น้ำมะพร้าวน้ำเก็กฮวยและน้ำฝรั่ง ตั้งแต่ปี 2540 สินค้าของโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตพร้อมด้วยเงินเพิ่มและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยสำหรับสินค้าที่โจทก์นำออกจากโรงอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 รวมจำนวน682,549.42 บาท โจทก์ยื่นคำคัดค้านการประเมิน จำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยคำคัดค้านต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้แก้คำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยให้งดเงินเพิ่มทั้งหมด คงให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย จำนวน 478,584.28 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ผลิตสินค้าเพื่อขายแก่ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งเป็นการขายปลีกทำนองว่าสินค้าของโจทก์ไม่เป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตนั้น เห็นว่า โจทก์มีเพียงนายวิยสิทธิ์ จิ๋วพัฒนกุล กรรมการโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ปากเดียว ทั้งขัดกับใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 44 ถึง 46อันเป็นใบกำกับภาษีของโจทก์เองที่ออกให้แก่บริษัทสยามจัสโก้ จำกัด กับบริษัทเอเอ็มพีเอ็ม(ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทสยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ซึ่งระบุว่าโจทก์ขายสินค้าน้ำมะพร้าวให้แก่บริษัทดังกล่าว ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกการขายสินค้าน้ำผลไม้ของโจทก์จึงเป็นการขายส่ง ดังนั้น สินค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษี และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่27 มีนาคม 2538 ขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า สินค้าของโจทก์เป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แต่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีเนื่องจากมีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 กำหนดไว้ ซึ่งประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวระบุให้น้ำผลไม้ (รวมถึงเกรปมัสต์) และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา ไม่ว่าจะเติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ หรือไม่ก็ตามซึ่งทำจากผลไม้ พืชหรือผักที่ปลูกในประเทศบางประเภทอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด และต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิตก่อน การที่ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม2538 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้ถือว่ามีผลตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุมัติยกเว้นภาษี และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อ 3 เป็นต้นไปก็เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มมีผลตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มที่โจทก์นำออกจากโรงอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 17สิงหาคม 2541 การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน