คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ประกอบการกิจการสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวงฯ โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการดำเนินการตามวัตถุประสงค์จะได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินทุนตามมาตรา 12 (3) ด้วยหรือไม่ เป็นความสัมพันธ์ของโจทก์กับรัฐ ส่วนการที่ทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 เป็นนิติสัมพันธ์ของโจทก์ฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่เหนือเอกชนเฉพาะการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น สำหรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนของโจทก์นั้น เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันโดยเฉพาะคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ โจทก์จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) เมื่อจำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2540 คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้ชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามปกติ อันเป็นการเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำให้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าตามฟ้องจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 68,898.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 60,238.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 59,834 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค จำเลยเป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าและตกลงปฏิบัติตามข้อบังคับการบริหารและใช้ไฟฟ้าของโจทก์ โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ผ-72552 และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยใช้ และได้ความยุติตามฟ้องโจทก์ด้วยว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ถึงวันที่โจทก์จดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้าย และถอดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวกลับไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2540 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิจารณาแล้วสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์เป็น “ผู้ประกอบการค้า” ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หรือไม่ การที่โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการสาธารณูปโภคตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มาตรา 7 นั้น เห็นได้ว่า โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการดำเนินการตามวัตถุประสงค์จะได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินทุนตามมาตรา 12 (3) ด้วยหรือไม่ เป็นความสัมพันธ์ของโจทก์กับรัฐ ส่วนการที่ทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 เป็นนิติสัมพันธ์ของโจทก์ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่เหนือเอกชนเฉพาะการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น สำหรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนของโจทก์นั้น เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน โดยเฉพาะคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ โจทก์จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้ชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามปกติ อันเป็นการเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำให้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าตามฟ้องจึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างถึงในฎีกา เป็นการฟ้องเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดไปจากการใช้กระแสไฟฟ้าผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ชำรุดบกพร่อง เป็นกรณีแตกต่างกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share