คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของสุกรต่างจังหวัดเคยให้พ่อตาคุมสุกรมาขายให้โจทก์ที่กรุงเทพฯ ในคราวเกิดเหตุก็ให้พ่อตาควบคุมสุกรมากรุงเทพฯอีก ในใบอินวอยส่งในนามชื่อยี่ห้อโจทก์เป็นผู้รับ แต่เมื่อถึงกรุงเทพฯแล้ว พ่อตากลับเอาสุกรไปขายผู้อื่นเสีย ดังนี้ วินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในสุกรยังไม่โอนไปยังโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่ผู้เสียหาย และยังไม่เป็นกรณีฉ้อโกงโจทก์ตามกฎหมายลักษณะอาญา

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง

ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานโจทก์ปากเดียวแล้วงดสืบต่อไปคงได้ความจากพยานว่า นายไอเท้ง เป็นพ่อค้าขายสุกรอยู่จังหวัดศรีษะเกศเคยส่งสุกรบรรทุกตู้รถไฟมาขายให้โจทก์ทางกรุงเทพฯ ทั้งยังเคยส่งสุกรขายให้บริษัทสหไชย ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการด้วยการส่งสุกรทุกคราวนายไอเท้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อตาควบคุมมาตามธรรมดาแล้วเมื่อนายไอเท้งส่งสุกรมาขายให้กับโจทก์ จะต้องชั่งเสียก่อนแล้ว จึงคิดราคากันตามราคาในท้องตลาด ในคราวที่จะเกิดเหตุกรณีนี้ นายไอเท้งได้ให้จำเลยที่ 1 คุมสุกรมาพร้อมด้วยใบอินวอยซึ่งมีชื่อยี่ห้อเซ่งล้งของโจทก์ แต่เมื่อสุกรถึงกรุงเทพฯ จำเลยที่ 1 กับไม่ขายให้แก่โจทก์ แต่เอาไปขายให้จำเลยที่ 2 เสีย จำเลยทั้งสองได้บอกแก่เจ้าพนักงานรถไฟว่า ห้างโจทก์ไม่ต้องการ ความจริงในวันที่สุกรมาถึงนั้น คนของโจทก์ได้นำเงินหนึ่งหมื่นบาทไปมอบให้ยี่ห้องแปะกิมจังเป็นเงินมัดจำชำระหนี้บางส่วนไว้แล้ว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรรมสิทธิ์ในสุกรยังไม่ตกเป็นของโจทก์ ทั้งจำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ประการใด หากจะเกิดการเสียหาย ผู้เสียหายก็คือกรมรถไฟ หรือนายไอเท้ง จึงพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งสุกรมากรุงเทพฯ นายไอเท้งมิได้บอกมายังโจทก์ก่อนแต่อย่างใด ทางฝ่ายโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องยอมรับซื้อเสมอไป ทั้งการซื้อขายสุกรตามที่เคยปฏิบัติกันก็จะต้องมีการชั่งเสียก่อนกรรมสิทธิ์ในสุกรยังไม่โอนมายังโจทก์ โจทก์จึงยังมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)

จึงคงพิพากษายืน

Share