คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียวกัน แม้จะมีการกระทำต่อผู้เสียหายสองคนด้วยกันก็อยู่ภายในเจตนาอันเดียวกันนั้น การที่จำเลยที่ 2กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกาย ส. เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และทำร้าย ป. เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายในขณะเดียวกัน จึงถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้ขวดเบียร์เป็นอาวุธตีประทุษร้ายและชกต่อย กระทืบทำร้ายร่างกายนายดาบตำรวจสมบุญ กายจะโป๊ะ ผู้เสียหาย ถูกที่บริเวณใบหน้าและลำตัวหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยนายดาบตำรวจประภาสอินทะปัญญา ผู้เสียหายหลายครั้งถูกที่บริเวณใบหน้าและลำตัวจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92,295, 297 และสั่งริบของกลางกับเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ตามกฎหมาย

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8), 295 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น (ที่ถูก เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย) จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบเศษขวดสุราและเศษขวดเบียร์ของกลาง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์มาก่อนก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายนายดาบตำรวจสมบุญกายจะโป๊ะ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายนายดาบตำรวจประภาส อินทะปัญญา เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำมา 2 ข้อว่า จำเลยที่2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายกรรมและจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ระบุวันเวลากระทำความผิดทั้งสองฐานเป็นวันเวลาเดียวกัน และกระทำขณะเดียวกัน ทั้งได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับพวกดื่มสุราด้วยกันอยู่ที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ เมื่อผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในร้านอาหารดังกล่าว จำเลยที่ 5 ได้เข้าไปก่อกวน เมื่อนายดาบตำรวจสมบุญเดินไปที่รถยนต์เพื่อหยิบอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวก็ถูกจำเลยที่ 2 กับพวกเข้ารุมทำร้าย ส่วนพวกจำเลยที่เหลือได้รุมทำร้ายนายดาบตำรวจประภาส ดังนี้ ศาลฎีกา เห็นว่า จำเลยที่ 2กับพวกมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใครลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียวกัน แม้จะมีการกระทำต่อผู้เสียหายสองคนด้วยกันก็อยู่ภายในเจตนาอันเดียวกันนั้น การที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายนายดาบตำรวจสมบุญเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และทำร้ายนายดาบตำรวจประภาสเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายในขณะเดียวกัน จึงถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8), 295 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297(8) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share