แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 ให้ลงโทษจำคุกและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นพนักงานอัยการจะฎีกาได้เฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้นแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษไว้ มิใช่เป็นการปล่อยผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) พนักงานอัยการจึงฎีกาไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2544 นายศราวุธ กิติพรพงษ์สุขทนายความซึ่งได้รับใบอนุญาตเลขที่ 583/2539 ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นคำร้องและใบมอบฉันทะโดยปลอมแปลงลายมือชื่อของนายชาญวุฒิ จันทร์พิลา ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ขอเลื่อนการพิจารณาคดี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 ให้จำคุก 2 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไว้ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่พนักงานอัยการฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(7) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 ให้จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไว้ 1 ปี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(7) และพนักงานอัยการได้ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น พนักงานอัยการจะฎีกาได้เฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษาให้ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น สำหรับคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหายังคงถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่รอการลงโทษไว้มิใช่เป็นการปล่อยผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(7) พนักงานอัยการฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของพนักงานอัยการมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกา