คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ที่มีข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไว้ใน (1) ถึง (5) ได้นั้น มิได้หมายความว่านอกจากข้อยกเว้นดังกล่าวแล้วนายจ้างไม่อาจเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพราะเหตุอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากนายจ้างมีเหตุผลที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของฝ่ายนายจ้างหรือเหตุผลที่เกิดจากลูกจ้าง นายจ้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวได้
ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างคุรุสภาโจทก์ตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามนโยบายช่วยเหลือบุตรและญาติเจ้าหน้าที่ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วโจทก์ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำประมาณ 350 คน คงเหลืออยู่ประมาณ 150 คน รวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด ต่อมาคณะกรรมการของโจทก์ได้ร่วมประชุมกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อบรรจุลูกจ้างส่วนที่เหลือ ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างได้ตามหลักในการบริหารทรัพยากรมนุษย์และโจทก์ยังได้เลิกจ้างลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมิใช่เป็นเพราะสาเหตุจากการที่ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาหรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนากลั่นแกล้งเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 โจทก์ได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นมาเพื่อประกอบกิจการค้า จัดพิมพ์ จำหน่ายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน และอุปกรณ์การศึกษาทุกชนิด จำเลยทั้งเก้าเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อเดือนเมษายน 2539 องค์การค้าของคุรุสภาโดยนายสมมาตร์ มีศิลป์ผู้อำนวยการขณะนั้นมีนโยบายช่วยเหลือบุตรและญาติของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาให้มีงานทำจึงเปิดรับสมัครบุตรและญาติของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาเข้าทำงานโครงการชั่วคราวมีกำหนดเวลา 1 ปี โดยเปิดรับสมัครเป็นการภายในเมื่อครบ1 ปี จะได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำประเภท 1 โดยมีผู้สมัครประมาณ 500 คนและได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำประเภท 1 จำนวน 400 คน เหลือที่ยังไม่ได้รับการบรรจุราว 100 คน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 องค์การค้าของคุรุสภาได้ประชุมร่วมกับกรรมการสหภาพแรงงานพิจารณาหลักเกณฑ์การบรรจุเจ้าหน้าที่โครงการเป็นเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา และองค์การค้าของคุรุสภากับคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาบรรจุไว้ ซึ่งมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 101 คน และได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโดยมีผู้ไม่ผ่าน 52 คน องค์การค้าของคุรุสภาจึงได้เลิกจ้างผู้ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 โดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ต่อมามีผู้ที่ถูกเลิกจ้าง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2528 มาตรา 123 และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างนางสาวสุชาดา บางพลับ นางภักจิรา ทองประจักษ์ นางสาวมาริสา กันหมู่ร้าย นายพงษ์ศักดิ์ เรืองรอง นางสาวงามตา ปลุกอร่าม นางสาวสกุลตลา ณ ป้อมเพ็ชร และนางสาวสมสวย เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 โดยให้องค์การค้าของคุรุสภารับผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันถูกเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โดยให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 449-455/2544 โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การเลิกจ้างมิได้เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย การเลิกจ้างเป็นไปตามสัญญาจ้างและข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยเป็นการจ้างให้ทำงานในโครงการชั่วคราวมีกำหนดเวลา 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี อาจได้รับการบรรจุหรือไม่ก็ได้ ตามสัญญาจ้างไม่ได้กำหนดให้องค์การค้าของคุรุสภาจะต้องบรรจุลูกจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์เมื่อครบกำหนด 1 ปี แต่อย่างใด การรับลูกจ้างเข้าทำงานเป็นโครงการช่วยเหลือญาติและครอบครัวของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาเพียงชั่วคราวจึงไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เอาไว้ขณะที่รับลูกจ้างเข้ามาทดลองงาน ซึ่งเมื่อครบ1 ปี ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานก็ได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำประมาณ400 คน วันที่ 5 มีนาคม 2542 องค์การค้าของคุรุสภาและสหภาพแรงงานได้ประชุมตกลงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้พิจารณาบรรจุลูกจ้างในโครงการช่วยเหลือชั่วคราวให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ จึงถือว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดด้วย เมื่อองค์การของคุรุสภาใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นข้อพิจารณาบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภา ก็มีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 101 คน ไม่ผ่าน 52 คน รวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดด้วย ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เพราะตามระเบียบขององค์การค้าของคุรุสภา ลูกจ้างจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการบรรจุโดยผ่านการทดลองงานแล้วเท่านั้น และผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างในขณะที่ข้อตกลงยังมีผลใช้บังคับอยู่ นอกจากนี้สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อลูกจ้างไม่ทำงานให้สมกับค่าตอบแทนนายจ้างย่อมเลิกจ้างได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 449-455/2544 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 และให้โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้ว

จำเลยทั้งเก้าให้การว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดโดยอ้างเหตุเลิกจ้างที่ไม่ใช่ความผิดอันจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ว่าองค์การค้าของคุรุสภาเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และให้รับผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเข้าทำงานเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้างและให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานเป็นคำสั่งที่ถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9) ที่ 449-455/2544 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ให้โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้วได้

จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดคือนางสาวสุชาดา บางพลับ นางภักจิรา ทองประจักษ์ นางสาวมริสากันหมู่ร้าย นายพงษ์ศักดิ์ เรืองรอง นางสาวงามตา ปลุกอร่าม นางสาวสกุลตลา ณ ป้อมเพ็ชร และนางสาวสมสวย เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามนโยบายช่วยเหลือบุตรและญาติเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีลูกจ้างตามโครงการนี้ประมาณ 500 คน ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาด้วย ขณะนั้นมีนายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาสัญญาจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี แต่เมื่อครบกำหนดแล้วก็ยังมีการทำงานกันเรื่อยมา มีการบรรจุพนักงานบางส่วนเป็นพนักงานประจำประมาณ 350 คน ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2542 นายสมมาตร์ มีศิลป์ ถูกถอดถอน และมีการตั้งนายวิชัย พยัคฆโส เป็นผู้อำนวยการแทนวันที่ 27 มกราคม 2542 องค์การค้าของคุรุสภาได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาบรรจุเจ้าหน้าที่โครงการลูกจ้างชั่วคราวเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ ที่ประชุมมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและได้นำไปประชุมร่วมกับกรรมการสหภาพแรงงานในวันที่ 5 มีนาคม 2542และกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาบรรจุ 5 ข้อ คือ 1. อายุไม่เกิน 35 ปี 2. หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดประเมินผลงานผ่าน 3. ลาไม่เกิน 15 วันต่อปี 4. ต้นสังกัดต้องการอัตราและแสดงเหตุผลโดยสามารถระบุรายละเอียดลักษณะงานอย่างชัดเจนของอัตรากำลังที่ต้องการ และ 5. เจ้าหน้าที่โครงการที่ได้รับเงินเดือนเกินวุฒิการศึกษาจะพิจารณาวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงานและความจำเป็นของตำแหน่งงานในวุฒินั้น ๆองค์การค้าของคุรุสภาได้พิจารณาแล้วมีผู้ไม่ผ่านหลักเกณฑ์นี้ 52 คน รวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดด้วย โดยเหตุผลดังนี้ นางสาวสุชาดา บางพลับ มีอายุเกิน 35 ปี ประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 1 ธันวาคม 2541 นางภักจิรา ทองประจักษ์ ในปี 2541 ลาเกิน 15 วัน โดยลาป่วย 19.5 วัน ลากิจ 1.5 วัน ประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 17 กันยายน 2541 นางสาวมริสา กันหมู่ร้าย ในปี 2541 ลาเกิน 15 วัน โดยลาป่วย 16.5 วันลากิจ 0.5 วัน ประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2541 นายพงษ์ศักดิ์เรืองรอง ในปี 2541 ลาเกิน 15 วัน โดยลาป่วย 46.5 วัน ลากิจ 1 วัน ประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 นางสาวงามตา ปลุกอร่าม ทำงานต่ำกว่ามาตรฐานประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 นางสาวสกุลตลา ณ ป้อมเพ็ชรมีอายุเกิน 35 ปี ประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และนางสาวสมสวย เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ในปี 2541 ลาเกิน 15 วัน โดยลาป่วย 19.5 วันประกอบกับสัญญาจ้างสิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2541

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าว่า การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ซึ่งบัญญัติว่า “ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง…” และกำหนดข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไว้ใน (1) ถึง (5) ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่านอกจากข้อยกเว้นดังกล่าวแล้วนายจ้างไม่อาจเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพราะเหตุอื่น ๆ ได้อีก หากในกรณีที่นายจ้างมีเหตุผลที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของฝ่ายนายจ้างหรือเหตุผลที่เกิดจากลูกจ้างนายจ้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามนโยบายช่วยเหลือบุตรและญาติเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีลูกจ้างตามโครงการประมาณ 500 คน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วโจทก์ได้บรรจุลูกจ้างโครงการดังกล่าวเป็นพนักงานประจำประมาณ 350 คน คงเหลืออยู่ประมาณ 150 คน รวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด ต่อมาโจทก์ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาบรรจุลูกจ้างที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ คณะกรรมการได้ร่วมประชุมกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อบรรจุลูกจ้างส่วนที่เหลือ 5 ประการ คือ 1. อายุไม่เกิน 35 ปี 2. หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดประเมินผลงานผ่าน 3. ลาไม่เกิน 15 วันต่อปี 4. ต้นสังกัดต้องการอัตราและแสดงเหตุผลโดยสามารถระบุรายละเอียดลักษณะงานอย่างชัดเจนของอัตรากำลังที่ต้องการ และ5. เจ้าหน้าที่โครงการที่ได้รับเงินเดือนเกินวุฒิการศึกษาจะพิจารณาวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงานและความจำเป็นของตำแหน่งงานในวุฒินั้น ๆ ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดได้ตามหลักในการบริหารทรัพยากรมนุษย์และนอกจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดแล้ว โจทก์ยังได้เลิกจ้างลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการดังกล่าวด้วย การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมิใช่เป็นเพราะสาเหตุจากการที่ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาหรือเพราะเหตุที่ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ฉะนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนากลั่นแกล้งเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลที่จำเป็น มิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งเก้านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share