คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2631/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัทบริหารสินทรัพย์ระบุให้ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)โจทก์โอนลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับให้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นก็ไม่สามารถรับโอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพจากโจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ได้เริ่มโอนลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใน 90 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้เริ่มดำเนินการโอนกิจการตามโครงการดังกล่าวตามความมุ่งหมายของประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้จดทะเบียนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์และโจทก์ได้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินการต่อเนื่องกันซึ่งแม้จะพ้นกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ไม่เป็นผลให้การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศดังกล่าวสิ้นผลไป ผู้ร้องจึงเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,198,387.43บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 2,854,044.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 5,092,279.97บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,854,044.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4961และ 6264 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามส่วนซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิด ถ้าไม่เพียงพอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามส่วนที่แต่ละคนต้องรับผิดจนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของโจทก์และได้มีพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ให้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์2542 โจทก์ทำสัญญาขายหรือโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่เหนือลูกหนี้ของโจทก์ทั้งหมดรวมทั้งหลักประกันให้แก่ผู้ร้องเพื่อบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งมีสิทธิเรียกร้องในคดีนี้รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสาม

จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับโจทก์มิได้ดำเนินการโอนกิจการตามโครงการโอนสินทรัพย์และหนี้สินตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินภายใน 90 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามประกาศกระทรวงการคลัง การโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับผู้ร้องจึงสิ้นผล ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 15สิงหาคม 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว ต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์พ.ศ. 2541 เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน รวมตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้นเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามเอกสารหมาย ร.9 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 16 กันยายน 2541 ต่อมาโจทก์ได้เริ่มโอนกิจการในส่วนสินทรัพย์และหนี้ที่มีคุณภาพดีให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541ส่วนผู้ร้องได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2542ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.3 และได้ทำสัญญาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโจทก์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 ตามสัญญาความร่วมมือตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินเอกสารหมาย ร.8 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าการที่โจทก์ได้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย ร.9 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะถือว่าการให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศดังกล่าวสิ้นผลไปหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นใจความว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนกิจการในส่วนสินทรัพย์และหนี้สินคุณภาพดี ส่วนผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์คุณภาพด้อยจากโจทก์ การเริ่มนับระยะเวลาดำเนินการโอนกิจการภายใน 90 วัน ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวต้องพิจารณาแยกออกจากกัน ผู้ร้องกับโจทก์ได้โอนกิจการกันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 พ้นกำหนดระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2541 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ร้องจึงไม่สามารถเข้าสวมสิทธิในคดีนี้แทนโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามเอกสารหมาย ร.9 ข้อ 1 ระบุว่า “การโอนกิจการบางส่วนของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีรายละเอียดดังนี้

(1) ให้ดำเนินการโอนลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีรวมทั้งเงินฝากและเจ้าหนี้สามัญให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยให้เร่งดำเนินการและดูแลให้การโอนลูกหนี้และเจ้าหนี้นั้นให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่พึงได้โดยครบถ้วน…”

ส่วนข้อ 2 ระบุว่า “การโอนกิจการบางส่วนของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์มีรายละเอียดดังนี้

(1) ให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

(2) เมื่อจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เสร็จแล้ว ให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมดให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ทันที”

และข้อ 5 ระบุว่า “กำหนดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบหากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ไม่เริ่มดำเนินการโอนกิจการตามโครงการนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผล” เห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ระบุชัดแจ้งให้โจทก์โอนลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับให้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์แยกออกจากกัน เมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นก็ไม่สามารถรับโอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพจากโจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ได้เริ่มโอนลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใน 90 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้เริ่มดำเนินการโอนกิจการตามโครงการดังกล่าวตามความมุ่งหมายของประกาศฉบับนี้แล้ว หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้จดทะเบียนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์และโจทก์ได้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินการต่อเนื่องกันซึ่งจะพ้นกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็หาเป็นผลให้การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศนี้สิ้นผลไปไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share