คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 3มาเป็นของโจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองแล้ว ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ส. อันมีผลทำให้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าวหมดสิ้นไปทันที โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทคืนจากฝ่ายจำเลยผู้ขายได้ การที่ ส. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนยังมิได้ชำระเงิน ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ขายหรือยังมิได้ดำเนินการบังคับคดีในคดีก่อน เป็นกรณีที่ ส. กับจำเลยทั้งห้าจะต้องไปว่ากล่าวกันต่อไปในคดีดังกล่าว หาทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์ที่ถูกเพิกถอนไปแล้วกลับคืนมาอีกไม่
ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคแรก ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533 จำเลยทั้งสามร่วมกันขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28505 พร้อมอาคาร 1 คูหา เลขที่ 1/17 แก่โจทก์ ในราคา 2,350,000 บาท และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารตลอดมา ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 นายสมชาย แซ่ตั้งหรือภูอมรเลิศ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเกียรติศิริค้าไม้และก่อสร้าง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสุนีย์ นิ่มกรชัยที่ 2 นางชัชวดี อัมภิกาภรณ์ ที่ 3 นางจิตนา ทัสนิยม ที่ 4 และโจทก์เป็นจำเลยที่ 5ต่อศาลแพ่งธนบุรี ให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28505 ระหว่างจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ให้กรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของนางสาวสุนีย์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบริษัทเกียรติศิริค้าไม้และก่อสร้าง จำกัด แล้วให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารให้แก่นายสมชายพร้อมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผลให้โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคาร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดคืนเงินค่าที่ดินและอาคาร 2,350,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารพาณิชย์มาชำระค่าที่ดินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาถึงวันฟ้องเป็นเวลา4 ปี 4 เดือน 22 วัน เป็นดอกเบี้ย 1,548,746.50 บาท และยังต้องรับผิดเนื่องจากศาลพิพากษาเพิกถอนการซื้อขาย ทำให้โจทก์ต้องเจรจาตกลงจ่ายเงินแก่คู่กรณีเป็นเงิน2,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 5,898,746.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยร่วมกันขายที่ดินและอาคารพิพาทแก่โจทก์ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินรวม 6 แปลง ซึ่งจำนองไว้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด ต่อมาประมาณปี 2531นายสมเกียรติ นิ่มกรชัย ขอซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 7,500,000 บาท เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำหน่าย ตกลงชำระเงิน3,000,000 บาท ในวันโอนกรรมสิทธิ์และไถ่ถอนจำนอง ส่วนที่เหลือ 4,500,000 บาทผ่อนชำระเป็นเช็ค ภายหลังนายสมเกียรติไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนจำนองได้ จึงขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นางสาวสุนีย์ นิ่มกรชัย นายสมยศ นิ่มกรชัย และนายกฤตโกมลฤทธิ์ เนื่องจากบุคคลทั้งสามจะเป็นผู้ติดต่อแหล่งเงินกู้มาไถ่ถอนจำนอง และต่อมาสามารถหาเงินมาไถ่ถอนจำนองได้ จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลทั้งสาม และในวันเดียวกันนายสมเกียรติและบุคคลทั้งสามร่วมกันออกเช็คจำนวน 9 ฉบับ รวมเป็นเงิน 4,500,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งภายหลังสามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ฉบับเดียวจำนวน400,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงทวงถามค่าที่ดิน แต่บุคคลทั้งสี่ขอผัดผ่อนให้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ออกจำหน่ายก่อนจึงจะนำเงินมาชำระ ซึ่งต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินและปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 9 คูหา เลขที่ 1/15 ถึง 1/23 โดยที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 28505 พร้อมอาคารเลขที่ 1/17 มีนางสาวสุนีย์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกและปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทุกแปลงได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด ภายหลังบุคคลทั้งสี่ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์เลขที่ 1/17 ถึง 1/23 รวม 7 คูหา ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมด โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งหมด จำเลยที่ 1 ตกลงและโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุตรสาวถือกรรมสิทธิ์แทนโดยไม่ทราบว่าที่ดินและอาคารเลขที่ 1/17 มีภาระผูกพันอยู่กับบุคคลอื่น ต่อมาจำเลยที่ 3 บุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 1 จะซื้อที่ดินและอาคารพิพาทและขอให้โอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 ก่อนเพื่อนำไปขอกู้เงินและจำนองแก่ธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนให้ แต่จำเลยที่ 3 ไม่สามารถกู้เงินได้จึงขอยกเลิกการซื้อขาย จำเลยที่ 1 เกรงจะเสียค่าใช้จ่ายในการโอนเป็นเงินจำนวนมากจึงมิได้จดทะเบียนโอนคืน แต่ให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นการโอนลอยคืนแก่จำเลยที่ 1 ครั้นวันที่ 15สิงหาคม 2533 โจทก์ติดต่อซื้อที่ดินและอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 2,350,000บาท และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533 แต่ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 นายสมชาย แซ่ตั้ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทดังกล่าวแล้วให้จดทะเบียนโอนแก่นายสมชาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาท ให้กรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของนางสาวสุนีย์ นิ่มกรชัย ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบริษัทเกียรติศิริค้าไม้และก่อสร้าง จำกัด แล้วให้จดทะเบียนโอนแก่นายสมชายและรับเงินที่เหลือ 1,120,000 บาท แต่โจทก์สมคบกับนายสมชายเรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,500,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากแพ้คดีดังกล่าว ทั้งที่นายสมชายก็มิได้ดำเนินการบังคับคดีและปัจจุบันโจทก์ยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทคืนพร้อมดอกเบี้ยเนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีอำนาจเรียกเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าชำระให้แก่นายสมชายไปเพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงิน 1,400,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิให้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533 โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารพิพาท โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นของโจทก์ ในราคา 2,350,000บาท ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 นายสมชาย แซ่ตั้งหรือภูอมรเลิศ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเกียรติศิริค้าไม้และก่อสร้าง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสุนีย์ นิ่มกรชัย ที่ 2นางชัชวดี อัมภิกาภรณ์ ที่ 3 นางจินตนา ทัสนิยม ที่ 4 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 5ต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 ตามเดิม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทแก่นายสมชายและรับเงินส่วนที่เหลือ 1,120,000บาท ศาลแพ่งธนบุรีฟังข้อเท็จจริงว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทในระหว่างจำเลยดังกล่าวเป็นการโอนที่ทำให้นายสมชายเสียเปรียบ และพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 ตามเดิม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่นายสมชายและรับเงินส่วนที่เหลือ 1,120,000 บาทศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด หลังจากนั้นโจทก์ได้ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทจากนายสมชาย แต่ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนจำนองที่ดินและอาคารพิพาท และต้องการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวการชำระค่าธรรมเนียมและภาษีในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เพื่อเรียกเงินค่าที่ดินและอาคารพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามปัจจุบันโจทก์ยังเป็นผู้ครอบครองและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสิทธิความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทของนายสมชายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากนายสมชายยังมิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,120,000 บาทให้แก่ผู้ขายคดีก่อน อันเป็นเหตุให้ไม่มีการออกหมายบังคับคดีและไม่อาจดำเนินการบังคับคดีได้ และหากภายหลังนายสมชายจงใจไม่ชำระค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทส่วนที่เหลืออยู่ดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลฎีกา นายสมชายย่อมไม่อาจนำผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวไปอ้างและใช้สิทธิบังคับตามคำพิพากษาต่อโจทก์คดีนี้ได้ เห็นว่าเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 3 มาเป็นของโจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและอาคารพิพาทดังกล่าวแล้ว ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายสมชาย อันมีผลทำให้สิทธิแห่งความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์หมดสิ้นไปทันที ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินและอาคารที่พิพาทให้แก่ฝ่ายจำเลยไปครบถ้วนแล้ว กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายแล้วจากการกระทำของฝ่ายจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทคืนจากฝ่ายจำเลยผู้ขายได้ การที่นายสมชายโจทก์ในคดีก่อนยังมิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ขายหรือยังมิได้ดำเนินการบังคับคดีในคดีก่อนเป็นกรณีที่นายสมชายกับจำเลยทั้งห้าจะต้องไปว่ากล่าวกันต่อไปในคดีดังกล่าว หาทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์ในคดีนี้ที่ถูกเพิกถอนไปแล้วกลับคืนมาอีกไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะโจทก์สมคบกับนายสมชาย โจทก์ในคดีก่อนจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมและภาษีที่รัฐจะได้รับจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และต้องการลดค่าใช้จ่ายและสละสิทธิการบังคับคดีเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่นายสมชายได้รับจากโจทก์ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าความนั้น เห็นว่า การที่นายสมชายโจทก์ในคดีก่อนสละสิทธิไม่ยอมบังคับคดีหรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยนายสมชายกับโจทก์คดีนี้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทไม่ว่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมและภาษีที่รัฐจะได้รับจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือลดค่าใช้จ่ายก็ตาม เป็นเรื่องที่มิได้เกี่ยวกับการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามแต่ประการใด นายสมชายจะปฏิบัติตามคำบังคับของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีดังกล่าว มิใช่คดีนี้ เมื่อโจทก์คดีนี้ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทแล้วมิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้คืนเงินค่าที่ดินและอาคารพิพาทได้ มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตดังจำเลยที่ 1 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคแรก ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้ออื่นที่เกี่ยวกับปัญหานี้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่วินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share