คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงในวิธีการชำระราคาและข้อตกลงให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายให้โอนไปเมื่อใดนั้น ไม่ใช่ข้อตกลงพิเศษนอกเหนือสัญญาและไม่มีข้อกฎหมายบังคับว่า ข้อตกลงเช่นนี้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ข้อตกลงเช่นว่านั้นมีผลใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อบุคคลอื่นได้ทรัพย์นี้ไปและทรัพย์นั้นได้มาระหว่างกันเป็นทอดๆ ไม่ใช่ในท้องตลาดแม้จะได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ตาม ก็หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1329 และ 1332 ไม่
โจทก์จำเลยตกลงกัน ให้โจทก์กู้เงินจากคนภายนอกมาซื้อโต๊ะบิลเลียดและเครื่องอุปกรณ์มอบให้จำเลยไปแล้ว ให้จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้แก่บุคคลภายนอกแทนโจทก์ จำเลยชำระหนี้เสร็จและได้รับสัญญากู้คืนมาเมื่อใดให้โต๊ะบิลเลียดตกเป็นกรรมสิทธิแก่จำเลย เมื่อจำเลยผ่อนส่งต้นเงินแทนโจทก์ไปบ้างแล้วคงค้างอีก 6,000 บาท จำเลยจะอ้างว่าราคาโต๊ะอีก 6,000 บาทที่ค้างนี้ได้แปลงเป็นหนี้เงินกู้แล้วไม่ได้ เพราะหนี้เงินกู้นั้นเป็นหนี้ที่โจทก์กู้มาแต่แรกซึ่งจำเลยเพียงแต่รับปากว่าจะชำระแทนโจทก์เท่านั้น หาใช่ว่าได้แปลงหนี้ค่าโต๊ะบิลเลียดกับเครื่องอุปกรณ์มาเป็นสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยต้องรับผิดต้องชำระเงินกู้นั้นไม่ กรรมสิทธิ์ในโต๊ะยังอยู่กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนมาได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

ย่อยาว

คดีนี้ ชั้นแรกโจทก์ฟ้องนายบุญส่งกับนางแบบโดยกล่าวว่าโจทก์กับนายแดงตกลงซื้อขายโต๊ะบิลเลียดของโจทก์เป็นราคา 10,000 บาท โดยวิธีผ่อนส่งและให้โจทก์ทำสัญญากู้เงินนางถนอมมา 10,000 บาท โดยเอาโต๊ะบิลเลียดเป็นประกัน แต่ให้นายแดงรับใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยแทนโจทก์ทั้งสิ้น เมื่อนายแดงชำระต้นเงิน ดอกเบี้ยเสร็จได้รับสัญญากู้คืนมาเมื่อใด โต๊ะบิลเลียดจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายแดงเด็ดขาด นายแดงผ่อนส่งต้นเงินแทนโจทก์ได้ 4,000 บาท กับดอกเบี้ยถึงสิ้นปี 2492 แล้วไม่ส่งอีก แล้วขายโต๊ะบิลเลียดให้กับจำเลยทั้ง 2 จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโต๊ะบิลเลียดเป็นของโจทก์ อย่าให้จำเลยขัดขวางในการที่โจทก์จะขนเอามามิฉะนั้นให้จำเลยชำระราคาที่ค้าง 6,000 บาทแทนนายแดง

นายบุญส่งจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่ารับซื้อโต๊ะรายนี้จากจำเลยที่ 2 ในตลาดเปิดเผยโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หากโจทก์จะรับคืนก็ต้องชำระราคาให้จำเลยที่ 1 อย่างน้อย 10,000 บาท

นางแนบจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโต๊ะตามฟ้องโจทก์ได้ขายให้นายแดงไปแล้วและจำเลยได้ซื้อจากนายแดงโดยสุจริตและเปิดเผยทั้งได้ชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด

เมื่อจำเลยทั้งสองให้การแล้วศาลให้เรียกนายแดงเข้ามาในคดีตามโจทก์ขอ

นายแดงจำเลยที่ 3 ต่อสู้ว่า โจทก์ขายโต๊ะนี้ให้จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยที่ 3 ได้ชำระแล้ว 4,000 บาทส่วนที่ค้างได้แปลงเป็นเงินกู้ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยได้ชำระคาให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายนี้จึงได้โอนไปยังจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ขณะที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

ศาลแพ่งฟังว่านายแดงจำเลยที่ 3 เพียงได้ตกลงมีสัญญาจะซื้อขายโต๊ะบิลเลียดกับโจทก์ กรรมสิทธิ์ในโต๊ะยังไม่โอนมาเป็นของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ยังค้างชำระราคาอยู่อีก 6,000 บาทส่วนจำเลยที่ 2 ซื้อโต๊ะรายนี้จากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3ซื้อจากจำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่งโดยมีค่าตอบแทนและสุจริตสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่เสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่จำต้องคืนโต๊ะรายนี้ให้โจทก์ เว้นแต่โจทก์จะชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามมาตรา 1332

พิพากษาให้นายแดงจำเลยที่ 3 ใช้เงิน 6,000 บาทพร้อมค่าธรรมเนียมและค่าทนายให้โจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ประสงค์จะบังคับจำเลยที่ 3 โดยจะเอาโต๊ะบิลเลียดคืนจากนายบุญส่งจำเลยที่ 1 ก็ต้องชดใช้ราคาที่นายบุญส่งซื้อมา 1,500 บาท ส่วนนางแนบจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องครอบครองโต๊ะนี้จะบังคับมิได้

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อสัญญาระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดจริง และข้อตกลงในวิธีการชำระราคาและข้อตกลงให้กรรมสิทธิ์โอนไปเมื่อใดซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าเป็นข้อตกลงพิเศษนอกเหนือสัญญาจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้นเห็นว่าไม่ใช่ข้อตกลงพิเศษนอกเหนือสัญญา และไม่มีกฎหมายบังคับว่าข้อตกลงเช่นนี้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าราคาโต๊ะที่ค้างอีก 6,000 บาท ได้แปลงเป็นหนี้เงินกู้แล้วนั้นก็ไม่ถูกต้องตามความจริง เพราะหนี้เงินกู้นั้นเป็นหนี้ที่โจทก์กู้ยืมนางถนอมมาแต่แรกและโจทก์ ก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมนั้นอยู่ หาใช่ว่าได้แปลงหนี้ค่าโต๊ะกับเครื่องอุปกรณ์มาเป็นสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้นั้นไม่เพียงแต่จำเลยที่ 3 รับปากจะใช้หนี้เงินกู้แทนโจทก์เท่านั้นไม่เป็นหลักฐานให้ถือเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้ชำระหนี้ค่าโต๊ะกับเครื่องอุปกรณ์รายพิพาทเสร็จสิ้นแล้วโต๊ะบิลเลียดกับเครื่องอุปกรณ์ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่โจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ซื้อไว้จากจำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อทรัพย์พิพาทในท้องตลาดดังข้อต่อสู้ไม่ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1332 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาต่อโจทก์ ๆ ก็มีสิทธิติดตามและเอาคืนได้ตามมาตรา 1336 ที่ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิตามมาตรา 1329 ด้วยนั้น หาต้องด้วยรูปคดีไม่ ที่ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ราคาทรัพย์พิพาทแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,500 บาท และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1

Share