แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางจีนร่วมกับจำเลยแทนผู้เยาว์ในคดีดำที่ 99/2494 แล้วต่อมานายสมจิตบิดาผู้เยาว์เป็นโจทก์ฟ้องเฉพาะจำเลยแทนผู้เยาว์อีกคดีหนึ่งทั้งทรัพย์พิพาทและพยานหลักฐานก็อย่างเดียวกัน แต่อ้างว่าอัยการไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เยาว์ ในคดีดำที่ 99/2494 มีอำนาจฟ้องเฉพาะนางจีนผู้บุพการีของผู้เยาว์เท่านั้นดังนี้การชี้ขาดตัดสินคดีเรื่องนี้จำต้องรอฟัง คำชี้ขาดตัดสินในคดีดำที่ 99/2494 นั้นก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา39
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องนายเสริมและนางเจียรว่า เมื่อประมาณ 23 ปีมานี้นางอ่องและนางสาวนองได้ยกกรรมสิทธิ์ที่เฉพาะส่วนตามโฉนดที่ 13344, 13351, 13381 ตำบลดำหรุ (ม่วงงาม) อำเภอบ้านลาด (เมือง)จังหวัดเพชรบุรี ให้แก่นางแม้นมารดาโจทก์ นางอ่อง นางสาวนองและนางแม้น ได้ตายไปแล้ว โจทก์เป็นทายาทโดยชอบธรรมของนางแม้น บัดนี้นางจีนผู้เป็นยายโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นลุงป้า ได้สมคบกันโอนทะเบียนใส่ชื่อของนางจีนและจำเลย พนักงานอัยการได้ฟ้องนางจีนนายเสริมนางเจียรไว้เรื่องหนึ่งแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการทะเบียน แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ
จำเลยต่อสู้ว่า นางจีนเท่านั้นเป็นทายาทโดยชอบธรรมและเป็นผู้รับมรดกคนเดียวของนางอ่อง นางสาวนองและตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องซ้ำ
โจทก์แถลงรับว่า
1. พนักงานอัยการได้ดำเนินคดีแทนเด็กหญิงมารีและเด็กชายคมแล้ว โดยฟ้องนางจีนซึ่งเป็นยายของเด็กร่วมกับจำเลย
2. ทรัพย์พิพาทในคดีนี้เป็นทรัพย์รายเดียวกับคดีนั้น
3. ประเด็นข้อพิพาทและพยานหลักฐานก็อย่างเดียวกัน
ศาลจังหวัดเพชรบุรีเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า แม้พยานหลักฐานและข้อนำสืบอย่างเดียวกันก็จริงแต่เป็นกรณีที่อัยการมีอำนาจเป็นโจทก์แทนเด็กหญิงมารี เด็กชายคมฟ้องนางจีนผู้บุพการีเท่านั้น คำฟ้องของพนักงานอัยการคดีดำที่ 99/2494 ดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นแห่งคดีนี้มีเหตุอันควรจะได้ฟังการวินิจฉัยในคดี 99/2494 ก่อนว่า พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-2 หรือไม่ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 ซึ่งมีว่า ถ้าการชี้ขาดตัดสินคดีเรื่องใดที่ต้องพิจารณาอยู่ จำต้องอาศัยทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเอง หรือศาลอื่นแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปจนกว่าจะได้มีคำพิพากษาหรือข้อชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ก็ได้
ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้รอคดีไว้รอฟังคำวินิจฉัยในคดี 99/2494 แล้วจึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป