แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทซึ่งควรได้รับมรดกด้วยกัน คนหนึ่งครอบครองที่นามรดกอีกคนหนึ่งยึดโฉนดนามรดกจนได้โอนใส่ชื่อมาแล้วเช่นนี้แม้จะเกิน 1 ปีผู้ครอบครองก็จะเอานาเป็นของตนผู้เดียวไม่ได้ต้องแบ่งไปคนละครึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ จำเลย ตั้งพิพาทที่นาในตำบล (บางพลับ) อินประมูลอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อันเป็นเนื้อที่ส่วนหนึ่งอยู่ในโฉนดที่ 3646 ซึ่งเดิมเป็นของนางสุขผู้สืบสันดานของโจทก์จำเลยมีความสัมพันธ์สืบจากสายนางสุข ดังนี้
นางสุข ตาย 30 ปีเศษ
นางกล่อม(ตาย) – นายเขียว(ตาย) นางพลบ นางรอด(ตาย)
นายอ๋อย (ตายราว 5 ปี) นางเนียม นายห้อย โจทก์
นางเกลี้ยง-นายเหหรือเหรา (ตาย)
นางหนูบาง จำเลย ฯลฯ ด.ช.หรือนายจำลอง
เดิมนางสุข มีนาตำบล (บางพลับ) อินประมูล 1 แปลง ได้รับโฉนด ในปี ร.ศ. 128 โฉนดที่ 3646 เนื้อที่ 24-2-20 ไร่ ร.ศ. 129 ได้จดทะเบียนขายฝากไว้แก่นายเจิมนางขลิบ เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้วนางสุขวายชนม์ ต่อมาไม่กี่ปี ถึงพ.ศ. 2461 นายพลบ นายอ๋อยได้โอนแก้ทะเบียนหลังโฉนด 3 ประการในคราวเดียวกัน คือ
1. โอนรับมรดกนางสุข ใส่ชื่อนายพลบ นายอ๋อยเป็นผู้รับมรดก
2. แก้ทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากจากนายเจิมนางขลิบ และ
3. โอนใส่ชื่อนายเห เข้าเป็นเจ้าของเพิ่มอีกคนหนึ่งเป็น 3 คน ทั้งนายพลบ นายอ๋อย
พ.ศ. 2465 นายเหตาย พ.ศ. 2466 นางเกลี้ยงภริยาและเด็กชายจำลองบุตรนายเห ฟ้องนายพลบ นายอ๋อย ขอแบ่งแยกที่ดินในส่วนของนายเห ได้ทำความประนีประนอมกันยอมให้นางเกลี้ยง เด็กชายจำลองแบ่งแยกโฉนดได้ทางซีกตะวันออกไปใน พ.ศ. 2468 เนื้อที่ 8-0-74 ไร่ส่วนโฉนดเดิมที่ 3646 คงเหลือ 16-1-46 ไร่ ยังคงมีชื่อนายพลบนายอ๋อย 2 คนต่อไปตามเดิม
เมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี้ นายอ๋อยตายแล้วจำเลยไปขอประกาศให้แก้ทะเบียนโอนรับมรดกใส่ชื่อแทนนายอ๋อยบิดาจำเลยในเดือนกุมภาพันธ์ 2493
โจทก์ซึ่งเป็นน้องนายอ๋อยและเป็นอาจำเลยยื่นคำฟ้องลงวันที่ 11กันยายน 2493 ว่า เนื้อที่ในโฉนด 16 ไร่เศษนี้ นางสุขผู้เป็นยายได้ยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เป็นเนื้อที่ 8 ไร่ อยู่ทางซีกตะวันตก (ตีราคาทุนทรัพย์ 10,000 บาท) เหลือนอกนั้นยกให้นายพลบ เวลาโอนรับมรดก นางสุขโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ จึงใส่ชื่อนายอ๋อยแทนโจทก์ร่วมกับนายพลบไปพลางก่อน เมื่อโจทก์รู้ความแล้วก็ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในส่วนของโจทก์เฉพาะเนื้อที่ 8 ไร่ตลอดมาเกินกว่า 30 ปีแล้ว มีคันเขตแน่นอน จำเลยหรือผู้อื่นใดหาได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่ประการใดไม่ โจทก์เพิ่งได้ทราบภายหลังว่าจำเลยโอนรับมรดกจากชื่อนายอ๋อย จึงขอให้ศาลแสดงว่า นาพิพาท 8 ไร่ ทางทิศตะวันตกนี้เป็นของโจทก์ เพิกถอนชื่อจำเลยออกและใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของสืบไป
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นส่วนของนายอ๋อย การโอนทะเบียนหลังโฉนด นายอ๋อยก็โอนรับมรดกในนามของนายอ๋อยเองมิใช่โอนแทนโจทก์ ที่โจทก์กล่าวว่าได้ทำนาแปลงนี้ตลอดมากว่า 30 ปีนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์เพิ่งเข้าทำนาพิพาทก่อนนายอ๋อยวายชนม์เพียง 4 ปี (วายชนม์ไปนาน 5 ปีเศษแล้ว) ทั้งนี้ก็เพราะนายอ๋อยได้กู้เงินของโจทก์มา 650 บาท มอบนาส่วนพิพาทนี้ให้โจทก์ทำต่างดอกเบี้ย ครั้นเมื่อ 3 ปีมานี้จำเลยได้นำเงิน650 บาทไปชำระให้โจทก์ ได้รับคืนสัญญากู้มาทำลายไปแล้วในคราวนั้นโจทก์เลยขอเช่านาแปลงนี้ทำต่อไป และได้ตกลงให้โจทก์ทำนาแบ่งครึ่งต่อมาจนบัดนี้ การที่จำเลยแก้ทะเบียนโอนรับมรดกนายอ๋อยนั้น โจทก์ก็ทราบแล้วมิได้คัดค้าน จึงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า ข้อที่โจทก์อ้างว่า นางสุขยกที่พิพาทให้โจทก์ นายอ๋อยลงชื่อในโฉนดแทนโจทก์นั้น เชื่อฟังไม่สนิทเมื่อฟังว่านายอ๋อยลงชื่อเป็นเจ้าของเองแล้ว แม้ถึงว่า โจทก์จะได้ครอบครองที่พิพาทก็น่าเชื่อไปทางอาศัยอำนาจนายอ๋อยและจำเลยตามข้อต่อสู้ของจำเลย จึงพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
เบื้องต้นเป็นอันรับกันว่า ขณะนี้โจทก์ปกครองทำนาพิพาทแต่ข้อที่ว่าโจทก์ทำมาแต่เมื่อไร โจทก์ว่า 30 กว่าปี หรือตั้งแต่อายุโจทก์ 20 ส่วนจำเลยว่า11 ปีมานี้เอง ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์คำพยานทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เห็นว่าข้อนี้โจทก์มีพยานนำสืบได้มั่นคงมาก มีนายพลบซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่และเพื่อนชาวนาข้างเคียงตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านประจำตำบลและหมู่ที่พิพาทยืนยันต้องกันว่า โจทก์ได้ปกครองทำนาพิพาทฝ่ายเดียวติดต่อกันมากว่า30 ปีแล้ว บ้านโจทก์ก็อยู่ใกล้นาพิพาท ส่วนจำเลยนั้นทั้งนายอ๋อยและจำเลย อยู่ในตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง ต่างตำบล ต่างอำเภอ ห่างไกลกับที่พิพาทมาก ในคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยก็ไม่ได้ยืนยันว่า นายอ๋อยเคยได้ปกครองที่นี้มาก่อนโจทก์
ข้อที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ได้ทำนาพิพาทเพราะนายอ๋อยให้ทำต่างดอกเบี้ย เงินที่นายอ๋อยกู้โจทก์มา 650 บาทนั้น ข้อกู้นี้คำพยานอ่อนแอไม่สมด้วยเหตุผลเลย เพราะนางเนียมภริยานายอ๋อยหรือมารดาจำเลยเองก็เบิกว่าระหว่างอยู่กินกับนายอ๋อย มีฐานะดี ไม่ฝืดเคืองดังนี้จึงไม่มีความจำเป็นอันใดจะต้องไปกู้และให้นาเขาทำต่างดอกเบี้ยนายอ๋อยกู้เอาเงินมาใช้อะไรก็ไม่ปรากฏ นางเนียมเองก็ว่าไม่ทราบจึงดูเป็นการเลื่อนลอย โจทก์ยังนำสืบนายจางกำนันเก่าว่า คราวนั้นได้ไปรังวัดชี้เขตที่พิพาทกัน ซึ่งฟังขัดเขินเพราะโจทก์ก็เป็นน้องนายอ๋อย นาอยู่ตรงไหน ส่วนสัดมีอย่างไรก็ทราบกันแล้วในระหว่างพี่น้องนี้จะต้องชี้เขตกันทำไมอีก จำเลยอ้างอีกว่า คราวไปไถ่ ได้ให้นายหอมสามีจำเลยกับนายแพไปไถ่ ได้สัญญากู้คืนมาทำลายต่อหน้าโจทก์แล้ว โจทก์ขอเช่านาพิพาททำแบ่งครึ่งต่อไปได้ไปขนข้าวมา 2-3 คราว ข้อนี้ก็แปลก จำเลยมีอาชีพทำนา ครั้นไถ่ได้แล้วกลับให้ผู้รับไถ่เช่าปากเปล่าทำต่อไป ไม่ได้ทำหนังสือการเช่าให้เป็นหลักฐานอย่างคราวทำกู้ และนายแพที่ไปไถ่ด้วยว่าตกลงค่าเช่ากันอย่างใดก็ไม่ทราบ จำเลยเบิกความว่า นายอ๋อยได้ที่พิพาทมาอย่างไรไม่ทราบ และว่าเคยช่วยนายอ๋อยบิดาทำนาพิพาทไปช่วยทำเมื่อจำเลยอายุเท่าใดก็รวนเร ลงท้ายว่าตอบไม่ถูกและนานี้จะมีอาณาเขตอย่างใดก็ไม่ทราบทั้งนั้น ค่าบำรุงท้องที่ก็ยังเสียในนามนายพลบ
จึงดูเป็นข้อเลื่อนลอย ไม่แน่นอนไปเสียทั้งนั้น พยานโจทก์มีน้ำหนักสมด้วยเหตุผลดีกว่าพยานจำเลยมาก
น่าเชื่อว่า โจทก์ได้ปกครองทำนาตลอดมา โดยมิได้ทำต่างดอกเบี้ยหรือเช่าใคร
เหตุที่โจทก์ได้ทำนั้น ก็โดยมีเค้ามูลมาจากนายพลญาติผู้ใหญ่บอกว่านางสุขยกให้โจทก์ แต่ข้อยกให้นี้ แม้จะจริงก็ไม่ได้ทำพิธีโอนให้สมบูรณ์แบบ โจทก์เป็นฝ่ายปกครองแต่ไม่เคยได้มีชื่อในโฉนด ส่วนจำเลยนั้นมีชื่อนายอ๋อยรับมรดกนางสุขแล้ว จำเลยรับมรดกใส่ชื่อแทนนายอ๋อยอีกต่อหนึ่ง
ทั้งโจทก์จำเลยก็เป็นทายาทควรได้รับมรดกสืบมาจากสายนางกล่อมด้วยกันเมื่อคนหนึ่งครอบครองที่มรดก อีกคนหนึ่งยึดโฉนดนามรดกจนได้โอนใส่ชื่อมาแล้วเช่นนี้ ก็เป็นการสมควรแก่ความยุติธรรมที่จะฟังว่าต่างฝ่ายยังได้ปกครองดูแลมรดกที่พิพาทนี้มาด้วยกันสมควรได้รับไปคนละครึ่ง
เหตุนี้จึงแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้แบ่งแก่โจทก์จำเลยคนละกึ่งโดยทางปรองดองแบ่งเนื้อที่พิพาทหรือว่าประมูล หรือแบ่งราคาในการขายทอดตลาดค่าฤชาธรรมเนียมรวม 3 ศาล ให้ช่วยกันออกฝ่ายละครึ่ง ส่วนค่าทนายความให้ต่างเป็นพับกันไป