คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นคนละเรื่องกัน สำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้นอาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือน
ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ว่าคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12กรกฎาคม 2541 สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว มิใช่ต้องสิ้นสุดลงภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีตามมาตรา 858
จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร เมื่อตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงินแม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม
ชั้นอุทธรณ์โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 1,500,000 บาทโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปและต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยและกรณีเป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนองคำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ สาขาสุรินทร์ วงเงินจำนวน 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16 ต่อปี) ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ได้มีการตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็น 5,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16ต่อปี) กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินตามประเพณีธนาคารและโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามแต่โจทก์เห็นสมควร เพื่อประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6228 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดและค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคิดถึงวันฟ้องจำนวน 7,280,180.66บาท ดอกเบี้ยจำนวน 742,229.28 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,022,409.94บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,280,180.66 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อสัญญาที่โจทก์ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา โจทก์เรียกดอกเบี้ยในต้นเงินที่เกินวงเงินไม่ชอบเนื่องจากไม่มีข้อตกลงไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีการหักทอนบัญชีใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา สัญญาจึงสิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2539 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2539 เป็นต้นไป จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 8,022,409.94บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 10ธันวาคม 2541 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 14มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 18มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6228 ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สัญญาข้อ 2 มีความว่า “ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด ภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเว้นแต่เมื่อผู้กู้ปฏิบัติผิดนัด ผิดเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัด ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแทนอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปดังกล่าวข้างต้นซึ่งขณะทำสัญญานี้ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 16.5 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5ต่อปี แต่ต่อไปอัตราดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ผู้ให้กู้จะประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ของยอดหนี้ที่ปรากฏตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด และกำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน” เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ดังที่จำเลยที่ 1ฎีกา

ปัญหาประการต่อไปมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใด จำเลยที่ 1ฎีกาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจึงต้องสิ้นสุดลงภายในกำหนด 6 เดือน ตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีเห็นว่า ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เป็นคนละเรื่องกันสำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้น อาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้ เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือนอย่างเช่นในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3 เพียงแต่ว่าคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 859 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คงมีแต่ข้อตกลงเฉพาะการหักทอนบัญชี และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.13 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวนี้ จึงชอบแล้ว

ปัญหาที่จะวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนเกินวงเงินกู้ จำนวน 5,500,000 บาท ดังจำเลยที่ 1 ฎีกาได้หรือไม่ เห็นว่า จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 และข้อ 3 ได้มีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงิน แม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม สรุปแล้วฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง โดยมิได้กำหนดให้คิดจากต้นเงินจำนวนเท่าใดไว้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนเป็นการไม่ถูกต้อง กับปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่3 เมษายน 2544 ว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป กรณีจึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปและต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย และมูลหนี้ดังกล่าวจำนวน 1,500,000 บาท เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนอง คำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2ผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน7,280,180.66 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 18 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระแก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share