คำวินิจฉัยที่ 22/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๔๖

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงตลิ่งชัน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงตลิ่งชันส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายดาบตำรวจหญิงนันทยา อยู่ร่มพฤกษ์ ที่ ๑ พันตำรวจโทประสาท ไชยศิริ ที่ ๒ พันตำรวจเอกชิต ศรีบัวพันธ์ ที่ ๓ นางพรรณนิภา ข่ายแก้ว ที่ ๔ นางเยาวลักษณ์ กิ่งแก้ว ที่ ๕ นางสาวสายสวาท สุริยกาญจน์ ที่ ๖ นางชูศรี รัตนโกมล ที่ ๗ นางสาวสุดใจ ชูพงศ์ ที่ ๘ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๙ จำเลย ต่อศาลแขวงตลิ่งชัน เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๑๑/๒๕๔๔ ความว่า โจทก์เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยที่ ๑ เคยรับราชการตำรวจในสังกัดโจทก์ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ประจำสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อจ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องหาคืนให้แก่นายประกันที่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันตามสัญญาประกันแล้ว จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ เป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๙
ระหว่างวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๘ ถึง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้จัดทำเช็คจำนวน ๙ ฉบับ ซ้ำซ้อนกับเช็คที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทำสัญญาประกันซึ่งได้รับเงินประกันตัวผู้ต้องหาคืนไปแล้ว โดยระบุชื่อผู้สั่งจ่ายเดิมเป็นผู้รับเงินในเช็คและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกทั้ง ๙ ฉบับ เสนอต่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ คือ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็ค โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนว่าเช็คที่ตนได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินดังกล่าวออกโดยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ได้สลักหลังรับเงินตามเช็คทั้ง ๙ ฉบับ ไปจากจำเลยที่ ๙ (สาขาพระปิ่นเกล้า) จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ ได้จ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๙ ฉบับ เป็นจำนวนเงิน ๒๘๒,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ เบียดบังเอาเงินประกันตัวผู้ต้องหาที่ตนเองมีหน้าที่ดูแล จัดการไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของกองบังคับการตำรวจนครบาล ๗ ได้สอบสวนแล้วพบว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และผู้ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คอีก ๔ คน ได้กระทำละเมิด โดยประมาทเลินเล่อ มิได้ร่วมทุจริตกับจำเลยที่ ๑ จึงได้แบ่งความรับผิดชดใช้ตามสัดส่วนที่ลงลายมือชื่อในเช็คแต่ละฉบับ ซึ่งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คซ้ำซ้อนจำนวน ๔ คนได้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว รวมเป็นเงิน ๓๑,๖๖๖.๖๔ บาท คงเหลือค้างชำระอีกจำนวน ๒๕๓,๓๓๓.๓๖ บาท
ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ เป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๙ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการเบิกและถอนเงินของลูกค้าในการนำเช็คระบุชื่อผู้ถือไปเบิกเงินสดโดยไม่ผ่านบัญชี เช่น ชื่อของผู้ทรงในเช็คจะต้องตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เบิกเงิน รวมทั้งลายมือชื่อของผู้สั่งจ่าย เป็นต้น แต่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ กลับไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยยินยอมให้จำเลยที่ ๑ เบิกเงินตามเช็คจำนวน ๙ ฉบับไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย และเมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๙ ในฐานะนายจ้าง จำเลยที่ ๙ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
จึงขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๒๕๓,๓๓๓.๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๖,๙๙๙.๙๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงิน ๘๘,๓๓๓.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๔ ชำระเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๕ ชำระเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๖ ชำระเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๗ ชำระเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยที่ ๘ ชำระเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งให้จำเลยทั้ง ๙ ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
ภายหลังจากที่เริ่มสืบพยาน ศาลแขวงตลิ่งชันพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติบทนิยามคำว่า “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินการทางปกครอง และคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า (๑) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง ดังนั้น ตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ ๙ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของบทนิยามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและในมาตรา ๙ (๓) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้ง ๙ กระทำละเมิดก่อให้ความเสียหายต่อโจทก์แล้ว จึงถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดตามความหมายแห่งบทบัญญัตินี้ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ตามมาตรา ๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลนี้เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ นั้น ศาลปกครองกลางได้เปิดดำเนินการแล้ว ดังนั้น ศาลนี้จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ จึงมีคำสั่งให้งดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แล้วให้ส่งความเห็นนี้ไปยังศาลปกครองกลางดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ นั้น แม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การกระทำของจำเลยที่ ๑ ในการจัดการเกี่ยวกับเงินประกันตัวและจัดทำเช็คดังกล่าว เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยโอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่จัดทำเช็คซ้ำซ้อนกับเช็คที่ได้จ่ายเงินประกันตัวคืนให้ผู้ทำสัญญาประกันแล้วกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินประกันตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป มิใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ในส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีอำนาจอนุมัติให้จ่ายคืนเงินประกันตัวผู้ต้องหาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ โดยก่อนลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็ค ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้องชัดเจน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ นำเช็คที่ออกซ้ำซ้อนไปเบิกเงินโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ในส่วนของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ นั้น แม้จำเลยที่ ๙ จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นมีทุนรวมเกินกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาและไม่ใช่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินการทางปกครอง แต่อย่างใด จำเลยที่ ๙ จึงมิใช่หน่วยงานทางปกครองตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ เป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๙ ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองแล้ว จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ จึงมิใช่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่และการกระทำละเมิดของบุคคลภายนอกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ เป็นคดีที่หน่วยงานของรัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในสังกัดและจากบุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากการทำละเมิด รวม ๙ คน ซึ่งศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นสอดคล้องต้องตรงกันว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ ว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ (๖) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง จึงเป็นหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๑ รับราชการตำรวจในสังกัดของโจทก์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่จัดทำเช็คจำนวน ๙ ฉบับ ซ้ำซ้อนกับเช็คที่ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทำสัญญาประกัน ซึ่งได้รับเงินประกันตัวผู้ต้องหาคืนไปแล้ว และได้เบียดบังเอาเงินดังกล่าว ที่ตนเองมีหน้าที่ดูแลจัดการไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ส่วนของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง” แม้จำเลยที่ ๙ จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นมีทุนรวมเกินกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ก็มิใช่เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ทั้งจำเลยที่ ๙ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการทางพาณิชยกรรม ไม่ใช่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการปกครองแต่อย่างใด ประกอบกับนิติสัมพันธ์ในคดีนี้ก็เป็นการเบิกและถอนเงินตามเช็ค อันเป็นความสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างธนาคารกับลูกค้า จำเลยที่ ๙ จึงมิใช่หน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ ซึ่งเป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๙ จึงมิใช่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลางตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่หน่วยงานของรัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลภายนอก ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ นายดาบตำรวจหญิงนันทยา อยู่ร่มพฤกษ์ ที่ ๑ พันตำรวจโทประสาท ไชยศิริ ที่ ๒ พันตำรวจเอกชิต ศรีบัวพันธ์ ที่ ๓ นางพรรณนิภา ข่ายแก้ว ที่ ๔ นางเยาวลักษณ์ กิ่งแก้ว ที่ ๕ นางสาวสายสวาท สุริยกาญจน์ ที่ ๖ นางชูศรี รัตนโกมล ที่ ๗ นางสาวสุดใจ ชูพงศ์ ที่ ๘ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๙ จำเลยนั้น สำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแขวงตลิ่งชัน

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share