แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องของโจทก์ฉบับแรกอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงเพราะศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 19 ตุลาคม 2544 ไม่ใช่วันที่ 17 ตุลาคม2544 ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีอันเป็นเรื่องอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องฉบับหลังอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทราบนัดในวันที่ 17 ตุลาคม 2544 ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ถูกต้องขอให้อนุญาตให้โจทก์พิจารณาคดีใหม่ อันเป็นเรื่องอ้างว่าโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่ได้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังเช่นคำร้องฉบับแรก ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับหลังเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 อ้างว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้ยกคำร้องฉบับแรก และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องฉบับหลังในวันที่ 4 ธันวาคม 2544 จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตามมาตรา 229
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ถ้าศาลยกคำร้อง โจทก์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์โจทก์จึงคงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งเงินที่ได้จากการขายบ้านซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2544คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีวันที่ 19 ตุลาคม 2544โจทก์ยื่นคำร้องฉบับแรกว่า ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงเพราะความจริงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 19 ตุลาคม 2544 ไม่ใช่วันที่ 17 ตุลาคม 2544 ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำสั่งศาลชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 19พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับหลังว่า โจทก์ไม่ได้ทราบวันนัดในวันที่ 17 ตุลาคม2544 ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วอนุญาตให้โจทก์พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลเดิมที่สั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2544 ยังอยู่ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ต่อไปนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์ฉบับแรกอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลง เพราะศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 ตุลาคม2544 ไม่ใช่วันที่ 17 ตุลาคม 2544 ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี อันเป็นเรื่องอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน2544 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องฉบับหลังอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทราบนัดในวันที่17 ตุลาคม 2544 ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วอนุญาตให้โจทก์พิจารณาคดีใหม่อันเป็นเรื่องอ้างว่าโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ ไม่ได้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังเช่นคำร้องฉบับแรก ดังนั้น คำร้องของโจทก์ฉบับหลังจึงมีข้ออ้างและคำขอแตกต่างกับคำร้องของโจทก์ฉบับแรก เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 อ้างว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้ยกคำร้องตามคำร้องฉบับแรกของโจทก์ และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์ในวันที่ 4 ธันวาคม 2544 จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7ต้องรับไว้พิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์ ซึ่งตามคำร้องฉบับหลังของโจทก์นั้น โจทก์อ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ มิใช่อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังได้กล่าวมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดด้วยโจทก์ยังไม่ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 17 ตุลาคม2544 ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวเพื่อให้กระบวนพิจารณาเสร็จไปโดยรวดเร็ว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาและอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ขาดนัดพิจารณาทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ถ้าศาลยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว โจทก์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องฉบับแรกของโจทก์ที่ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวมาแล้ว โจทก์คงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ต่อไปฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544