คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เบี้ยปรับจะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแต่ก็มิใช่ถือเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เด็ดขาด เพราะหากเจ้าหนี้เห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้น้อยเกินไปก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 ขณะเดียวกันถ้าเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ก็ให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงทางหนึ่งย่อมได้จากการนำสืบของคู่ความ เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าการผิดสัญญาของจำเลยที่ไม่ส่งมอบลิฟท์ทำให้ระยะเวลาและแผนงานของโจทก์ที่กำหนดไว้เสียหาย โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใดจึงหามีความชัดแจ้งพอกับความเสียหายที่แท้จริงที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเบี้ยปรับเต็มตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญาไม่ แม้จำเลยจะมิได้ให้การและนำสืบหักล้าง แต่ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายลิฟท์โดยสารจากจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ชุดในราคาชุดละ 1,745,000 บาท รวมราคาทั้งสิ้น 3,490,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายจะส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายแก่โจทก์ผู้ซื้อ ณ ศูนย์ฝึกอบรม สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทบางพูน จังหวัดปทุมธานี ภายใน 120 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ให้ไปทำการติดตั้งให้ถูกต้องครบถ้วน หากไม่ส่งมอบให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ริบหลักประกันและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินที่ซื้อขายมาติดตั้งและส่งมอบแก่โจทก์จนถูกต้องครบถ้วน มีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 174,500 บาท ต่อมาครบกำหนดส่งมอบ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายแก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ โจทก์จึงแจ้งบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายจนถึงวันบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 678,365.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 656,120บาท และจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 182,926.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 174,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ตกลงด้วย จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด โจทก์ไม่เคยทวงถามและแจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบถึงค่าเสียหายของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าวงเงินค้ำประกันขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 174,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 349,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 โดยให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 174,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ควรกำหนดเบี้ยปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดโจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์เป็นส่วนราชการ การดำเนินงานต่าง ๆ ของโจทก์ย่อมต้องเป็นไปตามแผนงานของทางราชการและกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้การเข้าใช้อาคารของโจทก์ซึ่งเป็นอาคารสำหรับใช้ฝึกอบรมพัฒนาบุคคลของโจทก์ล่าช้าไปกว่าที่กำหนดไว้เดิม ส่งผลให้การพัฒนาบุคลากรของโจทก์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โจทก์นำสืบไว้แล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะระยะเวลาและแผนงานไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ย่อมชัดแจ้งพอกับความเสียหายที่แท้จริงที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่ตกลงกันในสัญญา ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบหักล้าง เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในเรื่องค่าเสียหาย ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาว่า เหตุผิดสัญญาสืบเนื่องจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยอย่างรุนแรง ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบการค้าที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศและสถาบันการเงินภายในประเทศต้องได้รับผลกระทบเห็นว่า แม้เบี้ยปรับจะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแต่ก็มิใช่ถือเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เด็ดขาด เพราะหากเจ้าหนี้เห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้น้อยเกินไปก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 ขณะเดียวกันถ้าเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับมาตรา 383 ก็ให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงทางหนึ่งย่อมได้จากการนำสืบของคู่ความ เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ทำให้ระยะเวลาและแผนงานที่กำหนดไว้เสียหาย โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใด ย่อมหาได้ชัดแจ้งพอกับความเสียหายที่แท้จริงที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเบี้ยปรับเต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การและนำสืบหักล้าง แต่ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นจำนวนพอสมควรได้ คดีนี้สัญญาซื้อขายลิฟท์โดยสารพร้อมติดตั้งตกลงราคากันไว้ที่ 3,490,000 บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้แล้วที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 349,000 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้า จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share