คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ได้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใดส่วนที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฯซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้าและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศไม่ได้นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 โดยมิได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยนี้ก่อน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้
โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ต่อเมื่อโจทก์ได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 744,322.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 634,540.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเบี้ยประกันภัย 3 ปี ต่อครั้งเป็นเงินครั้งละ 3,734 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 304,400 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และจดทะเบียนจำนองห้องชุดเป็นประกันตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง แล้วผิดนัดชำระหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด ส่วนที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้า และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศไม่ได้นั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ จึงเป็นเพียงระเบียบบริหารงานของโจทก์ที่ประกาศให้ลูกค้าทราบเพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับธนาคารเท่านั้น ไม่มีผลบังคับเหมือนเช่นกรณีธนาคารพาณิชย์ที่เมื่อประกาศแล้ว มีผลเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว ดังนั้น แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยจะปรากฏว่าโจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งโดยคิดอัตราต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาและการที่โจทก์กลับไปคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อสัญญาหลังจากจำเลยผิดนัดแล้วก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไปมิใช่การประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกจากลูกค้าตามที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยวางข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ เพราะโจทก์ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 โดยมิได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยนี้ก่อน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาประการต่อไปที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยประกันภัยโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ตกลงให้โจทก์เอาประกันภัยโดยจำเลยมีหน้าที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยนั้น เห็นว่า ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 5 ระบุไว้ว่า …ถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเองผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบ ถ้าผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย ผู้จำนองยินยอมให้ทบเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระและยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว… ตามข้อสัญญาดังกล่าวพึงเห็นได้ว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอส่วนนี้ชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 744,322.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 634,540.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share