คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย
การกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาบางขุนนนท์ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 จำนวนเงิน 1,517,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2542 แสดงว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) ลงโทษจำคุก 8 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ให้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมายจ.7 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ฉีกทำลายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.7 ไปแล้ว แต่โจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินที่ฉีกทำลายนั้นมาปะติดปะต่อภายหลัง ต่อมาเมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทไปฝากเข้าบัญชีนายอภิชาต อริยะวิริยานนท์ เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.8 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยตกลงสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยเปลี่ยนเอาสัญญากู้ยืมเงินมาฉีกทำลายถือว่าได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ อันเป็นผลให้หนี้นั้นระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และโจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลยไป จำเลยได้นำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวไปฉีกทำลายแสดงว่าโจทก์ยอมรับเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยรับคืนมาจากโจทก์และนำมาฉีกทำลายถือว่าไม่เป็นเอกสารแล้ว แม้ต่อมาโจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาแสดงต่อศาล ก็ถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออีกต่อไป ไม่อาจฟ้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วหากหลักฐานนั้นสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีอาญา หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) สำหรับคดีแพ่ง แล้วแต่กรณีซึ่งคดีนี้จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานไว้ให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้จะฉีกทำลายสัญญากู้ยืมเงินภายหลังที่ออกเช็ค ก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบานั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตามแต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเมื่อพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้ เมื่อพิจารณาถึงมูลหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นมาเพื่อลงทุนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และโทษที่ลงแก่จำเลยเพียงระยะสั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีกับจำเลยหลังจากที่พ้นโทษมาประกอบกับจำเลยป่วยเป็นมะเร็งในโพรงจมูกเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงเห็นควรลงโทษในสถานเบาและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย และเพื่อให้จำเลยได้รู้สำนึกในผลแห่งการกระทำของตนให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๆ 3 เดือน เป็นเวลา1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share