คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำเนาเอกสารที่ผู้ส่งเอกสารส่งให้แก่โจทก์โดยวิธีโทรสาร เมื่อจำเลยถูกโจทก์อ้างมาเป็นพยานหลักฐานยันตน จำเลยมิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอม หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นแล้วเสร็จ และไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านต่อศาลในภายหลัง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยคัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้ โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) แล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
จำเลยมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ธนาคารผู้รับตราส่งหรือ ช. ผู้ซื้อสินค้า การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยได้ตามอำนาจแห่งกฎหมายโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทราบถึงการประกันภัยหรือไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไป
สินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรมซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตรใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 620 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่ถูกประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย) และจดทะเบียนสาขาในประเทศไทยประกอบกิจการรับขนทางอากาศ โดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 โจทก์รับประกันภัยสินค้าพิพาทประเภทพรมที่ทำด้วยมือ จำนวน 3 มัด (BALE) รวม 6 ชิ้นหรือผืน หนัก 100 กิโลกรัม ของบริษัทเฮริเทช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งจะขนส่งจากท่าอากาศยานกรุงเทพ ประเทศไทย ไปยังท่าอากาศยานเมืองไมอามีประเทศสหรัฐอเมริกามีสาระสำคัญในสัญญาประกันภัยว่า หากสินค้าที่เอาประกันวินาศภัยไม่ถึงมือผู้รับตราส่ง เสียหายหรือสูญหายอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างขนส่งโจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัยคือจำนวน 49,500 ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับ 1,782,990 บาท ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าพิพาทเพื่อส่งให้แก่ผู้รับตราส่งชื่อนายแซม ดาวิเดียน ณท่าอากาศยานเมืองไมอามี จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งทางอากาศชนิดแอร์ บิลให้ไว้แก่ผู้ส่งสินค้า วันที่ 7 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาทอีกทอดหนึ่งหรือร่วมรับขนกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งทางอากาศชนิดแอร์เวย์บิล ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าพิพาทถึงปลายทางจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่นายแซมมวล ดาวิไดแอนท์ส ผู้ไม่มีสิทธิ โดยต้นฉบับเอกสารทางการค้าทุกฉบับยังอยู่ที่ธนาคารซิตี้แบงก์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าไม่ถึงมือผู้รับผู้เอาประกันภัยได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,782,990 บาทจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ผู้เอาประกันภัยจึงได้ทวงถามโจทก์ โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,782,990 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงผิดนัดชำระหนี้ ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน1,782,990 บาท นับแต่วันที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 75,105.60 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 1,858,095.60บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,858,095.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,782,990 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทเฮริเทช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขนส่งทางอากาศโดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจในฐานะตัวแทนและกระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ออกแอร์บิลให้แก่ผู้ส่งสินค้าไว้เพื่อเป็นหลักฐานการรับสินค้าเท่านั้น จำเลยที่ 1มิได้คิดค่าบำเหน็จเป็นค่าระวางพาหนะสินค้าพิพาทมิได้สูญหายแต่อย่างใด โดยถูกส่งไปยังปลายทางในสภาพที่ถูกต้องครบถ้วน และมีผู้มารับสินค้าไปจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรปลายทาง ผู้ส่งสินค้ามิได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้รับสินค้าปลายทาง ผู้ส่งสินค้าหรือผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องจากโจทก์ โจทก์ชำระเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยไม่ตรวจสอบถึงความเสียหายอันเกิดจากผู้เอาประกันภัยอย่างละเอียด ความเสียหายมิได้อยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ สินค้าพรมพิพาทมีราคาไม่เกินผืนละ 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์บริษัทเฮริเทช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยและนายแซม ดาวิเดียน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2541ผู้เอาประกันภัยได้ขายสินค้าพรมให้แก่นายแซม ดาวิเดียน โดยผู้ขายจะต้องส่งมอบสินค้าไปให้ผู้ซื้อที่เมืองไมอามี มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้ว จะชำระสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยผ่านธนาคารซิตี้แบงก์ มีเงื่อนไขในการชำระเงินแบบ D/P AT SIGHT ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งทางอากาศชนิดแอร์บิลให้ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทโดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยและราคาสินค้า ต่อมาเมื่อสินค้าพิพาทถึงท่าอากาศยานไมอามี สินค้าพิพาทได้ถูกนำไปเก็บรักษาที่กรมศุลกากรสหรัฐอเมริกา เพื่อรอให้ผู้ซื้อมารับสินค้าไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์แล้ว นายแซม ดาวิเดียน ผู้ซื้อได้ชำระภาษีสินค้านำเข้าแล้วรับสินค้าไปแล้ว สินค้าไม่ได้ส่งให้นายแซมมวล ดาวิไดแอนท์ส โจทก์อ้างว่าได้สอบสวนแล้วพบว่ามีการลักทรัพย์พรมที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์จึงได้จ่ายเงินจำนวน 1,782,990 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ ราคาพรมดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริงซึ่งมีไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 1,782,990 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 75,105.60 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,782,990 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่8 ธันวาคม 252) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าบริษัทเฮริเทช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าพรมโดยทางอากาศจากท่าอากาศยานกรุงเทพประเทศไทย ไปยังท่าอากาศยานเมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ ผู้รับตราส่ง มีนายแซม ดาวิเดียน เป็นผู้ที่ต้องแจ้งให้ทราบ บริษัทดังกล่าวได้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งไว้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับตราส่งเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินจำนวน 49,500 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับจำนวน 1,782,990 บาท เมื่อสินค้าไปถึงท่าอากาศยานปลายทาง สายการบินไฟน์แอร์ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่นายแซมมวล ดาวิไดแอนท์ส ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,782,990 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามที่ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องและรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 2 และได้รับใบตราส่งทางอากาศชนิดแอร์บิล เอกสารหมาย จ.5 มา

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ตกลงรับจ้างขนส่งสินค้ารายนี้แล้วจำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทาง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการรับจ้างขนส่งสินค้ารายนี้ จำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งอันถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งของให้แก่ผู้ส่งตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.4 โดยระบุไว้ในใบตราส่งว่าผู้รับตราส่งคือธนาคารซิตี้แบงก์ มีนายแซม ดาวิเดียน เป็นผู้ที่ต้องแจ้งให้ทราบ ทั้งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ก็ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้นายแซมดาวิเดียน ซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้รับปลายทาง ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานผู้ขนส่งจึงมีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายแซม ดาวิเดียน ผู้ซื้อสินค้าที่ท่าอากาศยานเมืองไมอามี ซึ่งเป็นท่าอากาศยานปลายทาง โดยรับการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศซึ่งธนาคารซิตี้แบงก์ผู้รับตราส่งได้สลักหลังให้แต่กลับปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 2ได้ขนส่งสินค้าไปถึงท่าอากาศยานเมืองไมอามีแล้ว สายการบินไฟน์แอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ท่าอากาศยานเมืองไมอามีได้ปล่อยสินค้าให้แก่นายแซมมวลดาวิไดแอนท์ส ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.10 พร้อมสำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของนายแซมมวล ดาวิไดแอนท์ส เอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นเอกสารที่สายการบินไฟน์แอร์แจ้งและส่งไปให้ผู้ส่งทราบ ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่านายแซม ดาวิเดียน (SAM DAVIDIAN) กับนายแซมมวล ดาวิไดแอนท์ส (SAMUELDAVIDYANTS) เป็นบุคคลเดียวกันนั้น เห็นได้ว่า ทั้งชื่อและนามสกุลของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบแสดงว่าบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกันแต่ประการใด นอกจากนั้น ในการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้มาขอรับสินค้ายังเป็นการส่งมอบโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศ โดยเอกสารการรับสินค้ารวมทั้งใบตราส่งทางอากาศยังคงอยู่ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ตามสำเนาหนังสือของธนาคารดังกล่าวเอกสารหมาย จ.9 ข้อที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เอกสารหมาย จ.7 และจ.9 ถึง จ.11 เป็นสำเนาเอกสาร มิใช่ต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่าเอกสารหมาย จ.7 เป็นสำเนาใบตราส่งซึ่งมีข้อความถูกต้องตรงกับสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย ล.4 ที่จำเลยที่ 2 อ้างส่งทุกประการ ส่วนเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11แม้จะเป็นสำเนาเอกสารแต่ก็เป็นเอกสารที่ผู้ส่งเอกสารได้ส่งให้แก่โจทก์โดยวิธีโทรสารซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าในการส่งโดยวิธีนี้ตามปกติผู้ส่งจะนำต้นฉบับเอกสารไปลงในเครื่องโทรสารแล้วส่งโดยวิธีโทรสารไปยังเครื่องโทรสารของผู้รับ และผู้ส่งเป็นผู้เก็บต้นฉบับไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกโจทก์อ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานยันตน จำเลยที่ 2 ก็มิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นแล้วเสร็จ และไม่ได้ยืนคำร้องขออนุญาตคัดค้านต่อศาลในภายหลังโดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่โต้แย้งคัดค้านไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของนายเอกลักษณ์ อนรรฑมณีกุลพยานจำเลยที่ 2 กับยื่นคำแถลงคัดค้านไว้ภายหลังการสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แล้ว สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ผู้รับตราส่งหรือนายแซม ดาวิเดียน ผู้ซื้อสินค้าซึ่งได้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศที่ได้รับการสลักหลังให้ การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบ ทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัย ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 2 ได้ตามอำนาจแห่งกฎหมายโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงการประกันภัยดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกิน 10,000 บาท หรือเกินพรมผืนละ 10,000 บาท เพราะพรมเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 นั้น เห็นว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรม ซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ผู้ส่งจะไม่ได้แจ้งราคาสินค้าให้จำเลยที่ 2 ทราบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share