คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐให้แก่บุคคลอื่นได้ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น การที่ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ หากผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อาจมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายหินกับโจทก์ในสภาพสังหาริมทรัพย์ แต่ให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดหินและย่อยหิน ในเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งกรณีหาใช่การให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 12 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินในสภาพสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่ดินตั้งอยู่เขามะขามเฒ่า หมู่ที่ 3ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับสัมปทานอนุญาตให้ทำการระเบิดและย่อยหินจากทางราชการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 โดยโจทก์ต้องเป็นผู้เข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเอง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินท้ายสัญญา โจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อหินบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุงรวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และ 24,000,000 บาท และได้มอบโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี เพื่อเป็นประกันค่าซื้อหินแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีถ้ำ พระพุทธรูป สำนักสงฆ์ และพระภิกษุประจำอยู่และได้รับการทักท้วงว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องทำการระเบิดหินเองโจทก์จึงไม่นำเงินเข้าบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็ค และได้สอบถามไปยังกรมที่ดินและจังหวัดสระบุรี ได้รับแจ้งว่าผู้ได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินต้องดำเนินการเองจะโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับและโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง จำนวน 2 ฉบับคือเช็คเลขที่ 7992838 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และเช็คเลขที่ 6434267 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายหินระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์โดยโจทก์กับพระเทพกิตติปัญญาคุณหรือกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ร่วมกันซื้อในลักษณะสังหาริมทรัพย์จากจำเลยทั้งสอง แต่พระเทพกิตติปัญญาคุณเป็นพระภิกษุไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ จึงมอบให้โจทก์ผู้เดียวทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง โจทก์ทราบเงื่อนไขของการที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินเป็นอย่างดีจึงได้ทำสัญญาซื้อขายหินกับจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์ได้ตรวจสอบพื้นที่และทำหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ส่วนเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเองนั้นจะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นเพียงข้อกำหนดหนึ่งจากทั้งหมด 26 ข้อ มิได้หมายความว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะถูกเพิกถอนการอนุญาต การห้ามโอนสิทธิให้ผู้อื่นกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามเด็ดขาด การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อ มีหรือใช้วัตถุระเบิดไม่ทำให้สัญญาซื้อขายหินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับกับโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ ฉบับลงวันที่14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง ฉบับเลขที่ 7992838 ลงวันที่21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และฉบับเลขที่ 6434267 ลงวันที่14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูลอำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี ที่รับไว้คืนให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535โจทก์ทำสัญญาซื้อหินจากจำเลยทั้งสองในสภาพสังหาริมทรัพย์ในราคา 30,000,000บาท โดยมีข้อตกลงและรายละเอียดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐตามใบอนุญาตหมาย จ.2 และ จ.3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายเพราะการได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 สามารถโอนกันได้ เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมีการขอใช้ที่ดินของรัฐสองกรณี คือกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12การได้มาซึ่งสัมปทานตามมาตรา 12 สามารถโอนกันได้ การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามมาตรา 9 ก็ย่อมโอนกันได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 มาตรา 9 เองไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้นโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐนั้นให้แก่บุคคลอื่นได้ เพราะหลักการในการอนุญาตตามคำขอใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวนี้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะตัวเท่านั้นการที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 จำเลยทั้งสองผู้โอนอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินข้อ 3 ระบุว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ และหากโจทก์ผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 โจทก์อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 กับโจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น สัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน จึงเป็นวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะกรณีของจำเลยทั้งสองแตกต่างกับการให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share