แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มิได้เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะชั้นล่างภายในบ้านพักเป็นประจำเพราะบางครั้งก็วางไว้บนโต๊ะมิได้เก็บเข้าลิ้นชัก และ ย. ผู้เช่าบ้านอยู่ใกล้บ้านโจทก์เคยเข้าออกบ้านโจทก์ ซึ่งมิใช่คนแปลกหน้า การที่ ย. สามารถลักเช็คของโจทก์ไปได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ ย. ซึ่งปลอมลายมือชื่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นั้น เป็นคุณเฉพาะจำเลยที่ 2 หามีผลทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งมีความรับผิดตามกฎหมายต้องหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ ทั้งนี้เพราะผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิตามตั๋วเงินซึ่งลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมมิได้ แม้ผู้นั้นจะมิได้ประมาทเลินเล่อก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 นายยุทธนา บูรณะพงษ์ ได้นำเช็คที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเงินจำนวน 286,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็ค โดยผ่านการตรวจสอบของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามระเบียบและวิธีการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไปโดยประมาทเลินเล่อ เนื่องจากเช็คฉบับดังกล่าวมีการกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้สั่งจ่ายซึ่งไม่ตรงกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ต้องเสียเงินจำนวน 286,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 309,722 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หรือตามที่จำเลยที่ 1 คิดหักจากบัญชีของโจทก์ จากต้นเงินจำนวน 286,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเช็คพิพาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในเช็คพิพาทแล้วเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์จริง จึงได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ทรงไป โจทก์เองเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อไม่เก็บรักษาเช็คพิพาทไว้ในที่มั่นคงปลอดภัยทำให้บุคคลอื่นได้เช็คพิพาทไปแล้วปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยที่ 1 คิดดอกเบี้ยกับโจทก์เพียงร้อยละ 12 ต่อปี เท่านั้น ดอกเบี้ยจึงไม่ถึงจำนวน 23,722.32 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 286,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2540 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 นายยุทธนา บูรณะพงษ์ ได้ลักเช็คของโจทก์นำไปกรอกวันออกเช็คคือ “7 ต.ค. 40” สั่งจ่ายเงินจำนวน 286,000บาท โดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้สั่งจ่ายนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเช็คฉบับดังกล่าวจากนายยุทธนาและจ่ายเงินให้ไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1หยิบยกบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลักษณะ “ตั๋วเงิน” ขึ้นวินิจฉัยว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการวินิจฉัยเกินจากคำฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาทและเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ต่อกันโดยโจทก์เป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวัน การเบิกถอนเงินต้องกระทำโดยการสั่งจ่ายเช็ค จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คก็ต่อเมื่อโจทก์ในฐานะผู้เคยค้ากับจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คให้เบิกเงินจากจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวนตามเช็คจากบัญชีของโจทก์ให้แก่นายยุทธนาโดยลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม จึงเป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ของตนอันพึงมีต่อผู้เคยค้า ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดว่า มิได้จ่ายเงินโดยประมาทเลินเล่อ และโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเองในการเก็บรักษาเช็คตามฟ้อง โจทก์เป็นผู้ถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1008 ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้จึงครอบคลุมถึงความรับผิดตามบทบัญญัติเรื่องตั๋วเงิน และครอบคลุมข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัตินอกหน้าที่ตามนิติสัมพันธ์ที่มีต่อโจทก์และเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำบทบัญญัติในลักษณะตั๋วเงินมาปรับบทและวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยในกรอบแห่งประเด็นข้อพิพาทและไม่เกินคำขอ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อและพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ต้องหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิตามตั๋วเงินซึ่งลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมมิได้ แม้ผู้นั้นจะมิได้ประมาทเลินเล่อ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ก็ไม่ฎีกาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคุณเฉพาะตัวแก่จำเลยที่ 2 หามีผลให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีความรับผิดตามกฎหมายอยู่แล้วต้องหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์และนางปริศนา หริ่งรอด พยานโจทก์ว่า โจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะชั้นล่างซึ่งอยู่ภายในบ้านพักอาศัย และโจทก์ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ 1 ว่า บางครั้งโจทก์วางสมุดเช็คไว้บนโต๊ะมิได้เก็บเข้าลิ้นชักนายยุทธนาเคยเข้าออกบ้านโจทก์ ดังนี้ เมื่อสถานที่ดังกล่าวอยู่ภายในบ้านพักของโจทก์นายยุทธนาก็เป็นผู้เช่าบ้านอยู่ใกล้บ้านของโจทก์ มิใช่คนแปลกหน้า ข้อเท็จจริงเช่นนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายยุทธนาลักเช็คตามฟ้องไปได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพียง 200,000 บาท โดยโจทก์มิได้ฎีกานับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจากจำนวนเงิน 200,000 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิหักเงินจำนวน 200,000 บาท จากบัญชีของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับแล้วว่าได้คิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวเท่าที่จำเลยที่ 1 คิดจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเหลือเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับยอดต้นเงิน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน