แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งในกรณีที่ไม่ผิดนัดและผิดนัดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินไม่ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ และแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ที่ออกมาใช้บังคับในช่วงของการทำสัญญากู้ยืมเงินนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขมิใช่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไป การที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ สาขาหนองคาย เป็นเงิน 183,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีและยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้โจทก์ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดที่โจทก์สามารถคิดได้สำหรับเงินกู้ ซึ่งขณะทำสัญญากู้ โจทก์และจำเลยได้ระบุอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดสูงสุดไว้ในสัญญาเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยตกลงชำระหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ 2 สิงหาคม2542 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเวลาใดก็ได้ และหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถือว่าหนี้สินทั้งหมดเป็นอันถึงกำหนดชำระโดยพลัน จำเลยได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1609, 1578 ตำบลวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย (ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1578 ต่อมาเปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ 43083) พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับโจทก์ หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนโดยได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 หลังจากนั้นไม่ชำระหนี้ให้โจทก์อีกเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 283,715.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน164,561.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 164,561.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1609และที่ดินโฉนดเลขที่ 43083 ตำบลวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวน153,395.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม2537 จำเลยได้ทำใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคาร เอกสารหมาย จ.4 ยื่นต่อผู้จัดการโจทก์สาขาหนองคายเพื่อประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อจากโจทก์จำนวน 183,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจำนวน 183,000บาท ไปจากโจทก์ผู้ให้กู้ โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และได้รับเงินจำนวนที่กู้ไปเรียบร้อยแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การสืบพยานบุคคลของโจทก์ในเรื่องดอกเบี้ยมิใช่เป็นการนำสืบเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.6 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้ใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารและสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6ได้จัดทำขึ้นในวันเดียวกัน คือ วันที่ 2 สิงหาคม 2537 ก็ตาม แต่จากลักษณะและข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับนั้นไม่มีข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นสองนัย อันจะต้องตีความหรือเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำพยานบุคคลมาสืบประกอบเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเท่านั้น โจทก์จึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวกับจำเลย แต่หากจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์ก็คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารเอกสารหมาย จ.4 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ทั้งข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่สมเหตุผล เพราะนอกจากจะเห็นได้ว่าลักษณะของข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับนั้นแตกต่างกันแล้ว วัตถุประสงค์ในการจัดทำเอกสารทั้งสองฉบับขึ้นมาก็แตกต่างกัน โดยใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุวัตถุประสงค์ของจำเลยไว้แจ้งชัดแล้วว่า เป็นใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารที่จำเลยทำเสนอต่อผู้จัดการโจทก์สาขาหนองคายเพื่อจะขอวงเงินสินเชื่อจากโจทก์ และในข้อ 3 ของเอกสารดังกล่าว นั้น จำเลยเสนอไปว่าตกลงยินยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี เท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่า โจทก์ตกลงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารเอกสารดังกล่าว ดังนั้นจึงถือได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อธนาคารเอกสารหมาย จ.4 เป็นแต่เพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6นั้นถือได้ว่าเป็นข้อตกลงในการทำสัญญากู้ยืมระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นสัญญาที่ได้จัดขึ้นในภายหลังจากโจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงได้ตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 183,000 บาท และได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตามสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2ของเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุชัดว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีดังนั้น ข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมจึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัย หรือมีความเป็นสองนัยที่จะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ดังที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 ตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์จำเลยตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ 19ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ เป็นการบังคับว่าในการฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.6 ดังที่โจทก์ฎีกาเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.16 ไม่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช2475 เพราะว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยดังปรากฏตามวิธีการและรายละเอียดตามตารางการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและบัญชีเงินกู้ของจำเลยเอกสารหมาย จ.4 และ จ.15 ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามประกาศของโจทก์กล่าวคือเมื่อจำเลยไม่ผิดนัด โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีลูกค้าทั่วไป จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราผิดนัดต่อเมื่อจำเลยผิดนัดก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้นหามีผลกระทบต่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันไว้อย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 ตามเอกสารหมาย จ.6 ที่ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมตามข้อ 1 ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น แต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ซึ่งออกมามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 และวันที่ 1 สิงหาคม 2537 ตามลำดับและประกาศดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.13 อยู่ในช่วงที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในคดีนี้ก็เพียงประกาศกำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ดังนี้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บเมื่อลูกหนี้ของโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของสัญญาที่ทำไว้ต่อโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไปแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นการที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดกรณีลูกหนี้ผิดนัด เกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี เท่านั้น ฉะนั้นแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินดังที่ฎีกามาก็ตามก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้ไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในปัญหานี้จึงชอบแล้ว หาเป็นการคลาดเคลื่อนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเริ่มผิดนัด ไม่ใช่วันที่ 2พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้จากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 เป็นเงินจำนวน 5,000บาท ตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.15 ซึ่งเมื่อนำเงินที่จำเลยชำระดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างก่อนที่เหลือจึงหักชำระต้นเงินตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วคิดถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 จำเลยยังเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์อยู่จำนวน 153,395.33บาท หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกเลย จึงต้องคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ต่อไปนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกเป็นโมฆะแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนต้นเงินที่ค้างชำระดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง หาใช่นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเริ่มผิดนัดและมีการคิดดอกเบี้ยไปแล้ว ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน