แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเดินทางมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อฟังการพิจารณาคดี โดยเก็บอาวุธปืนไว้ในรถยนต์ จำเลยกับผู้ตายมีเรื่องขึ้นโรงศาลหลายครั้งหลายหน แต่จำเลยไม่ได้ตระเตรียมหรือไตร่ตรองไว้ก่อนว่าจะมาดักฆ่าผู้ตายที่บริเวณที่เกิดเหตุในที่ชุมนุมชนกลางใจเมืองในกรุงเทพมหานคร ยังไม่พอฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) คงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาตามมาตรา 288 มิได้เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาและศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายประกอบมาตรา 185 วรรคสอง มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2542 เวลากลางวันจำเลยมีอาวุธปืนพกชนิดรีวอลเวอร์ ขนาด .38 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานจำนวน 1 กระบอก และมีเครื่องกระสุนปืนขนาดเดียวกัน จำนวนหลายนัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมืองตามถนนราชินี ข้างศาลอาญากรุงเทพใต้ อันเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิง นางการะเกด สมิตามร และเด็กชายการุณย์ สมิตามร โดยยิงทีละนัดสลับกันหลายนัดกระสุนปืนถูกบริเวณร่างกายหลายแห่งโดยมีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำโดยทรมาน และโดยทารุณโหดร้าย เป็นเหตุให้นางการะเกด และเด็กชายการุณถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(5), 371, 32, 33, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และสั่งริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนเศษตะกั่วชิ้นส่วนหัวกระสุนปืนและซองพกใน 1 ซอง ของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4118/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตและฆ่าผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ปฏิเสธข้อหาพาอาวุธปืน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนวางโทษประหารชีวิต ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต วางโทษจำคุก 1 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไป ในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดวางโทษจำคุก 1 ปี เมื่อวางโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนถึงประหารชีวิตแล้ว จึงไม่นำโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นมารวมอีก คงประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน เศษตะกั่วชิ้นส่วนหัวกระสุนปืนและซองพกใน1 ซอง ของกลาง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมและอุกอาจในที่สาธารณะโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองและไม่ละเว้นแม้กระทั่งเด็ก ถึงแม้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน และให้การรับในชั้นพิจารณาว่าได้ฆ่าผู้ตายทั้งสองก็ตาม ก็เป็นเพราะจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่ลดโทษให้ นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4118/2539 หมายเลขแดงที่ 11653/2543ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ โจทก์มีนายสมบัติ อ่อนศรี ซึ่งประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างกับนางสุภาพร อุทาจิต ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายน้ำอยู่บริเวณริมคลองหลอดใกล้เคียงกับศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นประจักษ์พยานมาเบิกความตรงกันในสาระสำคัญว่า ในวันเกิดเหตุนายสมบัติได้ขับรถจักรยานยนต์ข้ามสะพานเจริญศรีแล้วเลี้ยวซ้ายย้อนศรไปตามถนนราชินีได้ประมาณ 30 เมตร ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด มาจากทางด้านซ้ายมือ จึงหยุดรถจักรยานยนต์และมองไปทางด้านซ้ายมือในระยะห่างประมาณ 3 ถึง 4 เมตร เห็นผู้ตายทั้งสองและจำเลยอยู่ที่ข้างรถยนต์กระบะสีเขียวป้ายแดงที่จอดอยู่จำเลยถืออาวุธปืน ส่วนนางการะเกดผู้ตายล้มลงไป จากนั้นจำเลยหันกลับเดินอ้อมท้ายรถยนต์กระบะไปยิงเด็กชายการุณย์ล้มคว่ำลงไปแล้วย้อนกลับไปยิงนางการะเกดอีก 1 นัด และกลับไปคร่อมเด็กชายการุณย์จ่อยิงที่ศีรษะอีก 1 นัดหลังจากนั้นจำเลยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่ออาวุธปืนและเดินไปทางสะพานเจริญศรีเมื่อเกิดเหตุแล้วมีเจ้าพนักงานตำรวจนำคนเจ็บทั้งสองส่งโรงพยาบาล ประมาณ 10 นาทีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามมายังที่เกิดเหตุสอบถามว่าผู้ใดเห็นเหตุการณ์ พยานโจทก์ทั้งสองตอบว่าเห็นเหตุการณ์จึงนำตัวไปสอบปากคำไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เห็นว่า คดีนี้เหตุเกิดเวลากลางวัน ประจักษ์พยานโจทก์ต่างเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุราว 3 ถึง 4 เมตร และ 7 เมตรตามลำดับ ย่อมเห็นและจำจำเลยได้ แม่นยำไม่ผิดตัว เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมตัวจำเลยได้และให้พยานทั้งสองไปชี้ตัวก็ยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสอง ส่วนจำเลยนำสืบหักล้างว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อฟังการพิจารณาคดี แต่ยังไม่ได้เข้าไปในห้องพิจารณา เพราะศาลติดพิจารณาคดีอื่นอยู่ จำเลยจึงนั่งรออยู่ข้างนอก หลังจากเสร็จการพิจารณาคดีแล้วทนายจำเลยออกมาพบจำเลยแล้วพูดว่า “มันแสบจริง ๆ นางการะเกดทำหลักฐานเท็จ” หลังจากนั้นจำเลยพร้อมนายพิพัฒน์ เลาหะธีระพงษ์ บุตรเขยจำเลยและนายสมศักดิ์ อาวรณ์คุม พากันเดินออกจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ทางประตูด้านศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อจะไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าย่านบ้านหม้อ เมื่อเดินมาถึงที่เกิดเหตุพบนางการะเกดและเด็กชายการุณย์จำเลยเดินตรงไปถามนางการะเกดว่า “คุณไม่มีความสัตย์เลย คุณโกงผมมาตลอดคุณจะใช้เงินคืนผมสองล้าน คุณยังมาทำหลักฐานเท็จว่าเป็นการพนันเสียอีก”นางการะเกดพูดโต้ตอบจำเลยว่า “ไอ้เจ๊กหน้าโง่ ก็คุณอยากโง่เอง เมียมึงยังมีชู้รู้หรือเปล่าต่อให้โคตรพ่อโคตรแม่มึงมาทวงกูก็ไม่ให้” ส่วนเด็กชายการุณย์พูดกับนางการะเกดว่า”ไปกันเถอะอย่าไปพูดกับไอ้เจ๊กหน้าโง่” ทำให้จำเลยรู้สึกโมโหสุดขีดที่ถูกสบประมาทจึงวิ่งไปเอาอาวุธปืนที่รถยนต์จำเลยแล้วกลับมายิงผู้ตายทั้งสอง ทั้งนายพิพัฒน์และนายสมศักดิ์พยานจำเลยมาเบิกความสนับสนุนความดังกล่าว จากพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบตามพฤติการณ์แห่งคดี ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมตัวจำเลยได้ในวันรุ่งขึ้นและสอบสวนคำให้การจำเลยไว้ในวันเดียวกัน ตามบันทึกคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.28 เจ้าพนักงานตำรวจได้สอบสวนจำเลย 2 ครั้ง โดยจำเลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง หากในวันเกิดเหตุมีการโต้เถียงด่ากันจนเป็นเหตุให้จำเลยเกิดโทสะโมโหสุดขีดที่จะทนได้ ถึงขนาดต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะยกขึ้นให้การถึงสาเหตุดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนให้ปรากฏไว้ แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ จึงเป็นข้อที่น่าตำหนิพยานจำเลยที่นำสืบมา และไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยถูกนางการะเกดผู้ตายและสามีโกงจำเลยแล้วยังโต้เถียงด่าว่าจำเลยก่อนเกิดเหตุ และเด็กชายการุณย์ผู้ตายยังพูดจาจ้วงจาบเสียดสีจำเลยอีกพฤติการณ์แห่งคดียังไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 อย่างไรก็ตามในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.28 พนักงานสอบสวนได้สอบสวน จำเลยไว้ว่าได้เตรียมอาวุธปืนของกลางมาจากบ้านหรือไม่ จำเลยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ได้ตระเตรียมอาวุธปืนมาจากบ้าน แต่อาวุธปืนพกของกลางจำเลยซุกซ่อนเก็บอยู่ในช่องเก็บของหน้ารถยนต์ตลอดเวลาเป็นอาวุธปืนพกติดอยู่ประจำในรถยนต์ เมื่อประมวลข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยละเอียดรอบคอบแล้ว เห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อฟังการพิจารณาคดี จำเลยคงไม่พกพาอาวุธปืนเข้าไป เชื่อว่าอาวุธปืนของกลางเก็บไว้ในรถยนต์จริง จำเลยกับผู้ตายมีเรื่องขึ้นโรงศาลหลายครั้งหลายหน และไม่มีพฤติการณ์บ่งบอกชี้ชัดว่าจำเลยได้ตระเตรียมหรือไตร่ตรองไว้ก่อนว่าจะมาดักฆ่าผู้ตายที่บริเวณที่เกิดเหตุในที่ชุมนุมชนกลางใจเมืองในกรุงเทพมหานครเช่นนี้ ข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์นำสืบมาแสดงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยโมโหสุดขีดจึงก่อเหตุร้ายในคดีนี้ขึ้น ยังไม่พอฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ศาลจะนำคำให้การในชั้นสอบสวนบางส่วนมาฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยรับโทษหนักขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในระบบกล่าวหา เพราะโจทก์มีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความโดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งศาลก็จะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงของโจทก์และจำเลย อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง คดีนี้คงรับฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่าจำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 มิได้เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษากันมา และศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 185 วรรคสอง มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 และไม่เป็นบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 อนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดที่มีลักษณะอุกอาจในที่สาธารณะต่อผู้ตายทั้งสองไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ถือว่าจำนนต่อพยานหลักฐานในเบื้องต้นแม้จะไม่มีคำรับสารภาพของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์สามารถรับฟังลงโทษจำเลยได้ จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา เพราะเมื่อจำเลยถูกจับกุมได้ก็ให้การถึงสาเหตุที่ก่อเหตุร้ายในคดีนี้ขึ้น ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนตลอดมา ฎีกาจำเลยที่ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 วางโทษประหารชีวิต คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) เป็นจำคุกตลอดชีวิตเมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษฐานอื่นมารวมได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์