คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5787/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ได้ เมื่อมาตรา 26 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีแรงงานตามมาตรา 54จะต้องมีเหตุสุดวิสัยหรือมีพฤติการณ์พิเศษ ฉะนั้น การที่จำเลยไม่อาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำให้การพยานเพื่อประกอบในการเขียนอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 9,075 บาท ค่าชดเชย 4,950 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 6 วัน นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2544 โดยอ้างเหตุว่าผู้รับมอบอำนาจเพิ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรกทำให้ไม่ทราบขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งจำเลยติดตามขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำให้การพยานตลอดมาและทราบว่าสามารถคัดสำเนาคำพิพากษาและคำให้การพยานเมื่อวันที่ 18ธันวาคม 2544 จึงได้มาขอคัดสำเนาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2544 แต่จนกระทั่งวันยื่นคำร้องนี้ก็ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและคำให้การพยานทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกำหนด

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ว่า จำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์พ้นกำหนด ทั้งมิใช่กรณีเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคดีมีเหตุขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 มาอนุโลมใช้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้ มาตรา 26 แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า”ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนดศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ในคดีแรงงานตามมาตรา 54 จะต้องมีเหตุสุดวิสัยหรือต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ ดังนั้น ถ้าจำเลยไม่อาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำให้การพยานเพื่อใช้ประกอบในการเขียนอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้ แต่การคัดสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำให้การพยานไม่ได้ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องไต่สวนแล้วมีคำสั่งต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางยกคำร้องขอจำเลยโดยไม่ไต่สวนว่ามีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือไม่นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ที่สั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share