คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669-1670/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเสียค่าขึ้นศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้องเป็นเกณฑ์ มิได้พิจารณาเป็นรายคดีหรือรายสำนวน ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) คำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล… ดังนั้น การเสนอข้อหาต่อศาลแต่ละข้อหาก็เป็นคำฟ้องแล้ว การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาแยกจากกันได้หรือไม่ หากแยกจากกันได้ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไป ประกอบกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ก็หาได้กำหนดให้เรียกค่าขึ้นศาลเป็นรายคำฟ้องหรือรายสำนวนไม่ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อหาหนึ่ง กับเบี้ยปรับของภาษีการค้าอีกข้อหาหนึ่งแยกจากกันได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายข้อหาจึงชอบแล้ว
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 11/2529 เป็นระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาล การงดหรือลดเบี้ยปรับเป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่และศาลยังมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีมีเหตุอันสมควรอีกด้วย
โจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเสียภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการค้าด้วย แม้ต่อมาจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ซื้อที่ดินคืนที่ดินแก่โจทก์และโจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้ให้แก่ผู้ซื้อ กรณีก็ยังสมควรต้องเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าร่วมทุนกับบริษัท ซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด ทำโครงการพัฒนาที่ดินมีจำนวนเงินร่วมลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 257,600,000 บาท โจทก์ร่วมลงทุนเป็นที่ดิน บริษัท ซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด ให้บริษัทคอมมอนเว็ลดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศแล้วให้บริษัทซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด กู้ยืมอีกทอดหนึ่ง ให้โจทก์และบริษัท ซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด จัดทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเท่ากับวงเงินที่ลงทุนเพื่อเป็นหลักฐานเสนอหาแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ บริษัทคอมมอนเว็ลดีเวล็อปเม้นท์จำกัด นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายไปติดต่อหาแหล่งเงินจากต่างประเทศได้ในงวดแรกจำนวน 74,000,000 บาท ให้บริษัท ซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด กู้ยืม ต่อมาบริษัทคอมมอนเว็ลดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด ไม่อนุมัติเงินกู้งวดที่สองจำนวน 104,000,000 บาทและยื่นฟ้องบริษัท ซี.ไอ.ซี. แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด เรียกเงินคืน โจทก์ฟ้องบริษัท ซี.ไอ.ซี.แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด ขอให้คืนที่ดินแก่โจทก์ ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยคู่ความทุกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์ ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบ ภ.ง.ด.12) ที่ 1001010/1/100339 เป็นเงินภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 137,684,674.92 บาท และประเมินภาษีการค้าเดือนกรกฎาคม2534 ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (แบบ ภ.ค. 80) ที่ 1001010/4/100009 เป็นเงินภาษีเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) รวมทั้งสิ้นจำนวน 11,396,000 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้งสองฉบับดังกล่าวชอบแล้วและพิจารณาลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบ โจทก์ไม่มีรายได้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการโอนที่ดินของโจทก์เป็นเพียงทำตามเงื่อนไขที่บริษัทคอมมอนเว็ลดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด จะนำไปเป็นหลักฐานประกอบการหาเงินจากแหล่งเงินจากต่างประเทศมาให้บริษัท ซี.ไอ.ซี.แลนด์แอนด์เฮ้าซิ่ง จำกัด กู้ยืมต่อเท่านั้น โจทก์ไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ต้องเสียภาษีการค้า ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งภาษีทั้งสองฉบับ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร มีหน้าที่เสียภาษีการค้า และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 149,080,674.92 บาท ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดเบี้ยปรับให้โจทก์อีกร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายคงเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย เป็นเงินทั้งสิ้น111,440,556.69 บาท ย่อมเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว โจทก์ขายที่ดินโดยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวและได้รับเงินจำนวน 74,000,000 บาท ถือเป็นเงินได้ในปีภาษี2534 โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี การฟ้องคดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อในภายหลังไม่มีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินหรือทำให้เงินได้ของโจทก์ไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ทำให้มีเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 257,600,000 บาทมิใช่เป็นการโอนโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) ที่ 1001010/1/100339 และหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค. 80) ที่ 1001010/4/100009 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ส.ภ.1(อธ. 3)/419/2542 และเลขที่ ส.ภ. 1 (อธ.3)/420/2542 โดยให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดเฉพาะส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมดเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์แต่ละข้อหาที่อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)(ก) ระบุว่า “คำฟ้องนอกจากที่ระบุไว้ใน (ข) และ (ค) ต่อไปนี้ให้เรียกโดยอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาท แต่ไม่ให้เกินสองแสนบาท” ดังนั้น การเสียค่าขึ้นศาลจึงต้องพิจารณาจากคำฟ้องเป็นเกณฑ์ มิได้พิจารณาเป็นรายคดีหรือรายสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ให้คำนิยามของคำฟ้องว่าหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล… ดังนั้น การเสนอข้อหาต่อศาลแต่ละข้อหาก็เป็นคำฟ้องแล้ว การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาแยกจากกันได้หรือไม่ หากแยกจากกันได้ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไป ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้าเนื่องจากศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันหรือให้แยกคดีกันคำฟ้องใดหรือข้อหาอันมีอยู่ในคำฟ้องใดจะต้องโอนไปยังศาลอื่น หรือจะต้องกลับยื่นต่อศาลนั้นใหม่ หรือต่อศาลอื่นเป็นคดีเรื่องหนึ่งต่างหาก ให้โจทก์ได้รับผ่อนผันไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในการยื่นหรือกลับยื่นคำฟ้องหรือข้อหาเช่นว่านั้น เว้นแต่จำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์แห่งคำฟ้องหรือข้อหานั้นจะได้ทวีขึ้น ในกรณีเช่นนี้ค่าธรรมเนียมเฉพาะที่ทวีขึ้น ให้คำนวณและชำระตามที่บัญญัติไว้ในวรรคก่อน” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่สนับสนุนว่าให้เรียกค่าขึ้นศาลเป็นรายคำฟ้องหรือสำนวนมิใช่รายข้อหานั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้แสดงว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลเป็นรายคำฟ้องหรือรายสำนวนดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คดีนี้จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อหาหนึ่งกับเบี้ยปรับของภาษีการค้าอีกข้อหาหนึ่งแยกจากกันได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายข้อหาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ศาลมีอำนาจสั่งงดเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า การงดเบี้ยปรับจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายเท่านั้น ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.11/2529 เห็นว่า ตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาล การงดหรือลดเบี้ยปรับเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และศาลยังมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีมีเหตุอันสมควร อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเสียภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนและไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการค้า แม้ต่อมาจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ซื้อที่ดินคืนที่ดินแก่โจทก์และโจทก์คืนเงินค่าที่ดินรับไว้แก่ผู้ซื้อ กรณีก็ยังสมควรต้องเรียกเบี้ยปรับที่ศาลภาษีอากรกลางให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วยและที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเหมาะสมแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share