คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งคือบริษัท อ. และซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด
บริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันเอาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ต่อบริษัท อ. ตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงหาใช่ความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2 ในความเสียหายจากการทำงานของจำเลยที่ 2 บริษัท เอ อี(ไทย) จำกัด (ที่ถูกบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นเจ้าของทาวเวอร์เครน โปเทรน อี 2/23 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รื้อถอนทาวเวอร์เครนดังกล่าวที่โรงงานของบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการรื้อถอน จำเลยที่ 1 กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ทาวเวอร์เครนพลิกคว่ำ ทำให้ทาวเวอร์เครนและทรัพย์สินอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,250,000 บาท โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยจากบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิดจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยความเสียหายจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 650,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 2 หากจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนประการใดก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจรับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 บริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย)จำกัด เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลำดับแรก ส่วนจำเลยที่ 2 และบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 เพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย)จำกัด คุ้มจำนวนวินาศภัยแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,400,000 บาท และ200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2538 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ตามลำดับ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประกันวินาศภัยทรัพย์สินของบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัดหรือบริษัทโซซิเอเต้ ออกซิลิแย ตองเตอร์ปรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด นับแต่วันที่ 11 เมษายน2538 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2539 จำนวนเงินเอาประกันภัย 69,914,415 บาท โดยโจทก์ที่ 1 เฉลี่ยความรับผิดร้อยละ 80 โจทก์ที่ 2 เฉลี่ยความรับผิดร้อยละ 20 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 บริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด และหรือจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2538 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 บริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด จ้างจำเลยที่ 2 รื้อถอนทาวเวอร์เครน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานของบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และเป็นผู้ควบคุมการรื้อถอนทาวเวอร์เครนได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทาวเวอร์เครนล้มลง ทาวเวอร์เครนและทรัพย์สินอื่นของบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัดเป็นเงิน 2,600,000 บาท และ 650,000 บาท ตามลำดับ

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งคือบริษัทเอส.เอ.อี (ประเทศไทย) จำกัด และซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด ในชั้นพิจารณาโจทก์ทั้งสองคงมีแต่นายสมพร สุริมิตรตระกูล ทนายโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายในการรื้อถอนทาวเวอร์เครนตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 โดยมีเงื่อนไขในการรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แทนจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 4,000,000 บาท นายสมพรมิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ให้แก่บุคคลภายนอกคือบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด และตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 ที่โจทก์ทั้งสองอ้างส่งศาล ก็ปรากฏว่าบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันเอาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ต่อบริษัทเอส.เอ.อี. (ประเทศไทย) จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 จึงหาใช่ความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป

อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

Share